ข่าวเศรษฐกิจ

อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก กระทบเศรษฐกิจโลกอย่างไร?

25 เม.ย. 66
อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก กระทบเศรษฐกิจโลกอย่างไร?

จากการคาดการณ์ขององค์กรสหประชาชาติ จำนวนประชากรของอินเดียกำลังจะแซงจีน (รวมฮ่องกง) และขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในกลางปีนี้ โดยตัวเลขประชากรของอินเดียได้แซงจีนแผ่นดินใหญ่ไปเรียบร้อยแล้วด้วยตัวเลขกว่า 1.4286 พันล้านคน หลังอัตราการเกิดของจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนจำนวนประชากรลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา

ในโลกที่ทุกประเทศกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่อัตราส่วนประชากรอายุน้อยลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประชากรสูงอายุมากขึ้น อินเดียได้กลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง ด้วยจำนวนประชากรอายุน้อยและวัยทำงานที่คิดเป็นถึง 93.2% ของคนทั้งประเทศ ซึ่งจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากในอนาคต เพราะประชากรอายุน้อยเหล่านี้เป็นได้ทั้ง ‘แรงงาน’ และ ‘ผู้บริโภค’ ให้กับผู้ผลิต

อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรนี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงข้อได้เปรียบอย่างเดียว เพราะมันก็อาจจะเป็น ‘ข้อเสียเปรียบ’ ได้เช่นกัน หากอินเดียไม่สามารถเร่งพัฒนาทั้งระบบการศึกษา และระบบเศรษฐกิจให้มีงานรองรับประชากรที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อินเดียยังสู้ประเทศที่มีจำนวนประชากรเท่าๆ กันอย่าง ‘จีน’ ไม่ได้

ในบทความนี้ ทีมข่าว SPOTLIGHT จึงชวนมาดูกันว่าการขึ้นเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลกของอินเดียจะสร้างโอกาสหรือปัญหาให้อินเดียอย่างไรบ้าง และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลกอย่างไร

 

อินเดียอาจก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตใหญ่แทนจีน

นอกจากจะมีจำนวนที่มากแล้ว คุณลักษณะพิเศษของประชากรอินเดียอย่างหนึ่งก็คือ ‘อายุ’ เพราะมากกว่า 90% ของประชากรในประเทศอินเดียในปัจจุบันอายุต่ำกว่า 64 ปี และมากกว่า 50% มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และมีถึง 25.69% เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 40 ปี ในขณะที่จีนมีประชากรในช่วงอายุเดียวกันเพียง 16.9%

ด้วยโครงสร้างประชากรแบบนี้ ในระยะยาวอินเดียจึงเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่ขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตใหญ่แทนจีนได้ เพราะในขณะที่ประชากรของจีนแก่ตัวและมีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ ประชากรวัยทำงานของอินเดียจะขึ้นมาแทนที่ ทำให้หลายๆ บริษัทสนใจเข้าไปตั้งฐานการผลิตในอินเดียที่มีแรงงานราคาถูกจำนวนมหาศาลไว้ใช้ผลิตสินค้า

โดยในปัจจุบัน ภาคการอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียคิดเป็นถึง 23.69% ของ GDP ประเทศในปี 2021 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพราะหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะบริษัทจากสหรัฐฯ หันมาสร้างฐานการผลิตในอินเดียกันมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง และตัวอย่างล่าสุดก็คือ Apple ที่ย้ายฐานการผลิตของ iPhone บางส่วนมาที่อินเดีย จนในปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ผลิต iPhone ลงขายในตลาดประมาณ 5-7% จากเพียง 1% ในปี 2021

artboard1_8

 

จำนวนประชากรที่มากขึ้นอาจเป็นภาระมากกว่ากำลังพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม การที่ประชากรของอินเดียมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นี้อาจไม่ใช่ข้อดีเสมอไป หากรัฐบาลอินเดียไม่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศ รวมไปถึงพัฒนาศักยภาพของประชากรให้รองรับความต้องการแรงงานอื่นๆ นอกจากแรงงานทักษะต่ำได้

โดยจากการวิเคราะห์ของหลายสื่อต่างประเทศ อินเดียยังมีจุดอ่อนหลายประการที่อาจทำให้ประเทศไม่สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากที่ควรได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมือง การพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการในการใช้ชีวิตของประชาชน และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ในปัจจุบัน อินเดียยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การไฟฟ้า การประปา ถนน รถไฟ รถประจำทาง ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของคนอินเดียส่วนมากยังอยู่ในระดับต่ำ การยักย้ายขนส่งวัตถุดิบและสินค้าเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจไม่เข้าไปลงทุนในอินเดีย

โดยจากการรายงานของ Bloomberg ประชาชนอินเดียในชนบทถึง 40% ยังไม่มีน้ำประปาใช้ อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการจัดการจัดการขยะและของเสียแม้แต่ในเมืองใหญ่ ทำให้อินเดียยังไม่มีศักยภาพรองรับประชาชนคนเมืองที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 270 ล้านคนภายในปี 2040 ได้

โดยนอกจากโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในระดับเมืองและระดับประเทศแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อินเดียยังด้อยพัฒนามากก็คือ ‘ระบบสาธารณสุข’ โดยปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียลงทุนเงินเพียง 2% ของ GDP กับระบบสาธารณสุข ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และเมื่อเทียบจำนวนประชากรต่อจำนวนเตียงพยาบาลในประเทศแล้ว เตียงผู้ป่วย 5 เตียงในอินเดียต้องรองรับประชากรถึง 10,000 คน ซึ่งน้อยกว่าจีนถึง 8 เท่า

ถัดจากคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน อินเดียยังมีปัญหาด้านคุณภาพแรงงาน เพราะ ‘ระบบการศึกษาในอินเดีย’ ยังไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากขาดบุคลากรครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งทำให้เด็กที่ลงทุนเสียเงินเรียนได้การศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ และได้ใบปริญญาที่ไม่มีประโยชน์ในการหางานมาด้วย

โดยจากการศึกษาโดย Wheebox บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจจากอินเดีย ในปัจจุบันผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปประมาณ 50% ของอินเดียเป็นผู้ที่ ‘unemployable’ หรือเป็นผู้ที่ถึงแม้จะมีชื่อว่าจบการศึกษาในสาขาหนึ่งๆ มาแล้ว แต่แท้จริงแล้วไม่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ อย่างแท้จริงเพราะสถาบันมีการสอนที่ไม่ได้มาตรฐาน

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้แล้ว แน่นอนว่าถึงแม้อินเดียจะมีข้อได้เปรียบในด้านปริมาณ ในด้านคุณภาพ ทั้งคุณภาพเมืองและคุณภาพคน ยังต้องการการพัฒนาอย่างมาก และถ้าอินเดียไม่เร่งพัฒนาแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว จำนวนประชากรที่มากขึ้นก็อาจจะกลายมาเป็นภาระมากกว่ากำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

ที่มา: Trading Economics (1), Trading Economics (2), Statistics Times, The New York Times, Bloomberg

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT