ข่าวเศรษฐกิจ

หุ้นฮ่องกงร่วงหนักสุดในรอบ 13 ปี ส่งสัญญาณเศรษฐกิจจีนซบเซา

25 ต.ค. 65
หุ้นฮ่องกงร่วงหนักสุดในรอบ 13 ปี  ส่งสัญญาณเศรษฐกิจจีนซบเซา

ทั้งคนที่เล่นหุ้น คนที่ซื้อกองทุน หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้ลงทุน ก็คงพอจะเห็น “สัญญาณร้าย” กันแล้วในตลาดหุ้นฮ่องกง ที่ร่วงลงชนิดระเนระนาด 2 วันติดต่อกัน หลังเห็นคณะผู้บริหารสูงสุดชุดใหม่ของ “จีน” ซึ่งพอจะบ่งชี้ได้ว่า ภาคธุรกิจมองทิศทางของเศรษฐกิจจีนในยุค “สีจิ้นผิง 3” อย่างไร

เปิดตลาดมาวันจันทร์ที่ 24 ต.ค. ดัชนีฮั่งเส็ง ร่วงลงอย่างหนักตลอดทั้งวันจนปิดตลาด ลบลงไปถึง 1,030 จุด หรือ 6.36% ลงไปปิดที่ 15,180 จุด ซึ่งเป็นระดับ “ต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี” ตั้งแต่เดือนเมษายน 2009 ที่เป็นช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส และวันนี้ 25 ต.ค. ดัชนีฮั่งเส็งก็ยังปิดลบต่อเนื่องอีก 15.10 จุด ปิดที่ 15,165.59 จุด

ยิ่งหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยียิ่งไปกันใหญ่ หุ้นบริษัทเทคโนโลยีจีนขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้ง Alibaba Group Holding, Baidu Inc., JD.Com Inc., Meituan และ Tencent Holdings ต่างพาเหรดกันร่วงกว่า 11% ในวันจันทร์ แม้ว่าล่าสุดจะราคาหุ้นจะกระเตื้องขึ้นบ้างแล้วในวันนี้ก็ตาม

เหล่านี้สะท้อนถึง “ความกังวล” ต่อทิศทางเศรษฐกิจจีนโดยตรง 

ปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้นฮ่องกงปรับตัวลงมากในครั้งนี้คือ การประกาศมอบตำแหน่งทางเศรษฐกิจให้ผู้ภักดีและคนสนิทที่สนับสนุน “นโยบายโควิดเป็นศูนย์” (Zero-Covid) และ “นโยบายคุมเข้มธุรกิจภาคเอกชน” เพื่อเพิ่มการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำดังเดิม ทำให้นักลงทุนต่างชาติวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ เพราะนโยบายเหล่านี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนซบเซามากในช่วงที่ผ่านมา

จากการรายงานของ South China Morning Post หลังข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) จำนวน 7 คนออกมาเมื่อวันอาทิตย์  นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นฮ่องกงก็เทขายหุ้นมูลค่าประมาณ 1.8 หมื่นล้านหยวน หรือราว 9.4 หมื่นล้านบาททันที บ่งบอกว่านักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่ำในการบริหารเศรษฐกิจของคณะโปลิตบูโรชุดใหม่นี้

000_32ly2v4

ทั้งนี้เป็นเพราะนักลงทุนมองว่า การสืบทอดอำนาจในฐานะประธานาธิบดีจีนของ ‘สีจิ้นผิง’ เป็นสมัยที่ 3 จะเป็นการสืบทอดนโยบาย Zero Covid และนโยบายควบคุมภาคเอกชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย และมองว่าการที่สีจิ้นผิงแต่งตั้งแต่คนสนิทที่มีประวัติภักดีกับเขามาตลอด ทำให้คณะโปลิตบูโรคณะนี้ขาดความสมดุล ขาดคนเห็นต่าง ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจและการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดที่ทำร้ายระบบเศรษฐกิจของจีนและโลกได้

โดยเฉพาะคนที่ขึ้นมาเป็น “เบอร์ 2” และคาดว่าจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนอย่าง “หลี่ เฉียง” ที่นักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่า ยังขาดประสบการณ์ในการทำงานในรัฐบาลกลาง และเชื่อฟังสีจิ้นผิงเกินไปที่จะทำหน้าที่ผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากการบริหาร “เซี่ยงไฮ้” ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา

 

อัตราเติบโตต่ำกว่าเป้าฉุดความมั่นใจร่วง

นอกจากข่าวการแต่งตั้งคณะ 7 ผู้นำสูงสุดในโปลิตบูโรแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเสียความมั่นใจในหุ้นฮ่องกงก็คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาล่าช้ากว่ากำหนดเกือบ 1 สัปดาห์ และต่ำกว่าเป้าหมาย 

โดยถึงแม้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนหรือ จีดีพี ในไตรมาส 3 ปีนี้ จะโตได้ 3.9% เมื่อเทียบปีที่แล้ว และสูงกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 0.4% แต่ตัวเลขนี้ก็ยังต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ 5.5% และต่ำกว่าระดับที่จีนเคยทำไว้ได้มาก ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการที่จีนบังคับใช้นโยบาย Zero Covid ในหลายพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น เซี่ยงไฮ้ ที่ถึงแม้จะทำให้จีนสามารถควบคุมระดับการติดเชื้อภายในประเทศได้ แต่ก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านี้ลดลงไปด้วย

นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาไปหลังประสบปัญหาสภาพคล่องจนผิดชำระหนี้ไปเมื่อปี 2021 ก็ยังคงไม่ฟื้น ถึงแม้รัฐบาลจะได้ออกนโยบายกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับลดดอกเบี้ยบ้าน และคืนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลให้แก่คนที่ซื้อบ้านก็ตาม 

โดยราคาบ้านใหม่ยังคงตกต่อเนื่อง โดยลดลง 0.2% จากเดือนกันยายน และ 0.3% จากเดือนสิงหาคม ในขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังลดลง 12.1% ในเดือนกันยายน เทียบกับปีก่อนหน้า สะท้อนระดับอุปสงค์และความมั่นใจของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้น

นอกจากนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเสี่ยงไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลสีจิ้นผิงมีจุดยืนชัดเจนที่จะเข้ามาควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ประเทศให้มีความเหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ในตลาด โดยเคยกล่าวไว้ในสุนทรพจน์ปี 2017 ว่า “ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีไว้เพื่อสร้างพื้นที่อยู่อาศัยให้ประชาชน ไม่ใช่ให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร” ซึ่งเป็นประโยคที่ปรากฎอีกครั้งในเอกสารประกอบการประชุมในวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ตอกย้ำเข้าไปอีกว่ารัฐบาลอาจไม่สนใจกระตุ้นมูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้สูงมากขึ้นเกินไปนัก

นอกจากนี้ ภายใต้การนำของผู้นำคนเดิม และนโยบายทางการทูตแบบเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงย่ำแย่อยู่ในตอนนี้ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า เพราะมันน่าจะทำให้นโยบายกีดกันด้านการค้าระหว่างสองประเทศนี้ยังคงอยู่ และจะส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

ซึ่งหลังจากนี้ก็คงต้องรอดูต่อไปว่ารัฐบาลชุดใหม่ของจีนจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา โดยนักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่านโยบาย Zero-Covid มีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อไปอีกนานถ้าดูจากสุนทรพจน์เปิดงานประชุมประจำปีเมื่อวันจันทร์ที่สีจิ้นผิงยังคงยืนยันว่ารัฐบาลจะยังคงมุ่นมั่นลดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด และให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาสุขภาพและความปลอดภัยให้แก่ประชาชน

โดยในสุนทรพจน์เดียวกัน สีจิ้นผิงยังกล่าวอีกด้วยรัฐบาลจะดำเนินการควบคุม ‘กลไกการสร้างความมั่งคั่ง’ (wealth accumulation mechanism) ของบริษัทเอกชนเพื่อกระจายความมั่งคั่งนั้นให้คนหมู่มากในประเทศ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าจะทำให้เศรษฐกิจของจีนถูกรัฐควบคุมมากขึ้น จนสูญเสียประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตไป




ที่มา: BBC, ReutersThe Wall Street Journal, CNBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT