ข่าวเศรษฐกิจ

ตรุษจีน ปี 65 เงินสะพัดยังน้อย อาหารแพง ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย

24 ม.ค. 65
ตรุษจีน ปี 65 เงินสะพัดยังน้อย  อาหารแพง ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจเม็ดเงินสะพัดช่วงตรุษจีนปี 2565 ยังไม่ฟื้น อยู่ในระดับใกล้เคียงกับตรุษจีนปีที่แล้วที่ 11,790 ล้านบาท สาเหตุเพราะประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ในช่วงราคาเนื้อสัตว์ปรับสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์โควิด19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ระมัดระวังในการเดินทาง ภายใต้งบประมาณที่จำกัด

 

25 ม.ค.65 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนของคนกรุงเทพฯ ในปี 65 อยู่ที่ประมาณ 11,790 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ที่หดตัวกว่า 10.4% เนื่องจากมีการวางแผนงบประมาณใช้จ่ายอย่างรัดกุม โดยจะยังให้น้ำหนักกับการจัดซื้อเครื่องเซ่นไหว้เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกิจกรรมสำคัญของเทศกาล แม้ระดับราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น

 

โดยผลการสำรวจ ระบุว่า คนกรุงเทพฯ 71% มองว่า ระดับราคาสินค้าที่ขยับสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ในหมวดอาหารสด (เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้) ที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้น  โดยเนื้อสัตว์จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 15-30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ในขณะที่กลุ่มผักและผลไม้ น่าจะมีสัดส่วนของการปรับราคาที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มเนื้อสัตว์ โดยน่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5-10%

 

อย่างไรก็ตาม คนกรุงฯ กว่า 72% จะยังคงวางแผนงบประมาณเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่าย ดังนี้

  1. ในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดซื้อเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของเทศกาล ผู้บริโภคคงหลีกเลี่ยงกับการปรับขึ้นราคาไม่ได้ ส่งผลให้ในภาพรวมยังคงมีการสำรองงบประมาณการใช้จ่ายส่วนนี้เป็นหลัก แต่คนกรุงฯ ส่วนใหญ่จะปรับตัวโดยการลดปริมาณการซื้อลง (โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 45,000 บาท/เดือน) มีเพียงบางส่วนที่หันมาเพิ่มงบประมาณ (ส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้มีรายได้ 45,000 บาท/เดือนขึ้นไป)
  2. ค่าใช้จ่ายในการทำบุญ/ท่องเที่ยว แม้ว่าทิศทางราคาพลังงาน (ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง) จะยังอยู่ในระดับสูง แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีสัญญาณที่ดีขึ้น มีการเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ บางส่วนวางแผนทำบุญ/ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังคงท่องเที่ยวด้วยความอย่างระมัดระวัง มีการจัดสรรค่าใช้จ่ายภายใต้งบประมาณที่จำกัด
  3. ค่าใช้จ่ายเพื่อแจกแต๊ะเอีย ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่พยายามปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงมากที่สุด ทั้งจำนวนเงินและจำนวนผู้ให้ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปเม็ดเงินใช้จ่ายรวม แบ่งเป็น การใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ 6,000 ล้านบาท (ขยายตัว 7.1%) การใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ/ทานข้าวนอกบ้าน 3,050 ล้านบาท (ขยายตัว 2.8%) และการแจกเงินแต๊ะเอีย 2,740 ล้านบาท (หดตัว 14.8%)

 

ส่วนคำแนะนำต่อภาคธุรกิจ ด้านการเพิ่มยอดขายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 65 ต้องวางแผนการตลาด และเพิ่มการให้บริการตอบโจทย์ลูกค้า โดยเฉพาะการจัดโปรโมชั่นด้านราคา รวมถึงเพิ่มการให้บริการที่ช่วยสร้างความสะดวกในการจับจ่ายให้กับผู้บริโภค คนกรุงเทพฯ บางส่วนเลือกสั่งซื้อเครื่องเซ่นไหว้จัดชุดสำเร็จรูปผ่านช่องทางออนไลน์ หรือโทรสั่งให้ร้านค้าส่งเดลิเวอรี่กันมากขึ้น ทำให้คาดว่า ตรุษจีนปี 65 การสั่งซื้อผ่านช่องทางนี้จะยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากผลการสำรวจที่ระบุว่า สัดส่วนการสั่งซื้อเครื่องเซ่นไหว้ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการเข้าไปเลือกซื้อเองที่ร้าน

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT