ข่าวเศรษฐกิจ

ภาษีขาขึ้น! เปิดรายได้ 3 กรมภาษี จัดเก็บต่ำกว่าเป้า

9 ม.ค. 65
ภาษีขาขึ้น!  เปิดรายได้ 3 กรมภาษี จัดเก็บต่ำกว่าเป้า

ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีการจัดเก็บรายได้พลาดเป้าหมายไปแล้ว 11.9% โดยหน่วยงานหลักที่ทำรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก ทั้งกรมสรรพากร-กรมสรรพสามิต-หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีรายได้พลาดเป้าทั้งหมด เพราะผลกระทบจากโควิด ขณะที่คลังกำลังอยู่ระหว่างทำแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีจึงเห็นกระแสการเก็บภาษีประเภทใหม่ๆเป็นข่าวออกมาต่อเนื่อง

 

"คลัง" รายได้ปี 2564 พลาดเป้า

 

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ช่วงระหว่างตุลาคม 2563 – สิงหาคม 2564 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้จำนวน 2,105,023 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายงบประมาณไปจำนวน 285,670 ล้านบาท หรือ 11.9 % และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 57,292 ล้านบาท หรือ 2.6%

 

โดยการจัดเก็บรายได้ข้องจากหน่วยงานหลักทั้งกรมสรรพากรกับต่ำกว่าเป้าหมายไปจำนวน 186,921 ล้านบาท หรือ 10.4% ส่วนกรมสรรพสามิตต่ำกว่าเป้าหมายไปจำนวน 84,998 ล้านบาท หรือ 14.7% และการนำส่งรายได้จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าเป้าหมายไป 19,026 ล้านบาท หรือ 12.4% เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

 

ประกอบกับมีการดำเนินนโยบายการคลังและภาษีเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาภาระแก่ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ข้องรัฐบาลต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ส่วนตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของงบประมาณรวมทั้งปี 2564 ที่รอรัฐบาลประกาศออกมาอย่างต้องรอประกาศออกมาอย่างการซึ่งคงยากที่จะทำได้ออกตามเป้าหมายที่วางไว้

 

เปิดแหล่งรายได้ภาษีใหม่


ดังนั้นจึงเริ่มเห็นการขยับของกรมสรรพากรที่สร้างรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ออกมา เมื่อมีข่าวว่ากระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐให้มีความยั่งยืน

 

ส่งผลให้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 มีกระแสเกิดขึ้นต่อเนื่องถึงการจัดเก็บภาษีจากแหล่งใหม่หรือกลับมาเก็บภาษีในบางกิจกรรมที่เคยยกเว้นให้เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

 

โดยกระทรวงการคลัง ระบุว่า ส่วนหนึ่งในแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษี คือ การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์(Financial Transaction tax) มีความจำเป็นซึ่งจะเริ่มในปี 2565 หลังจากภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น

 

ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยกเว้นกำไรที่ได้จากการขายหุ้น(Capital gains tax) ซึ่งในหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ บางประเทศก็เก็บตัวใดตัวหนึ่ง

 

แต่ส่วนใหญ่มีการเก็บ Financial Transaction Tax กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ หลังจากที่ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาอย่างยาวนาน โดยการนำกฎหมายภาษีตัวใดออกมาใช้ในประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ว่า มีการฟื้นตัวแล้วหรือยังด้วย

 


บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า การจัดเก็บภาษีการหุ้นในอัตรา 0.1% ประเมินว่าจะมีรายได้รัฐจะเพิ่มปีละประมาณ 1- 2 หมื่นล้านบาท หากมูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงอดีต คือ ในปีปัจจุบันนักลงทุนประเภท Active มีการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยราว 2-3 ล้านบาท/เดือน หากรัฐเรียกเก็บภาษีนักลงทุนที่มีการขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาท/เดือน 

 

นอกจากนี้ประเมินว่าจะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดหุ้นโลกลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการ Trading ลดลง จาก Transaction cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร และทำให้มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง

 

ส่งผลให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาคัดค้านโดยก่อนหน้านี้นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO)กล่าวกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยซึ่งมีสมาชิก ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.), สมาคมบริษัทจัดการกองทุน, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมตราสารหนี้ไทย และ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ มีความเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นด้วย หากสรรพากรจะจัดเก็บภาษี Transaction Tax จริง เพราะจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อภาพรวมการพัฒนาภาคตลาดทุนและเศรษฐกิจของไทยมากกว่าจะเกิดผลในทางบวก เพราะจากปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทยอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนา ทั้งในเรื่องการสร้างเพิ่มจำนวนฐานผู้ลงทุนซึ่งรัฐบาลเองมีนโยบายต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมภาคกับประชาชนผ่านช่องทางการออมต่างๆ โดยการออมในตลาดหุ้นเป็นช่องทางการออมในระยะยาวที่ดี

 

ขณะที่ปัจจุบันมีประชาชนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในระบบของไทยรวมประมาณ 2 ล้านบัญชี ถือเป็นสัดส่วนที่ยังต่ำมากเมื่อเปรียบกับจำนวนประชากรของไทยที่มีจำนวนประมาณ 70ล้านคนจึงจะเป็นประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการออมาภาคประชาชนของไทย อีกทั้งจะเป็นการสร้างอุปสรรคในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ คือ ธุรกิจกลุ่ม New Economy และเทคโนโลยีที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการสนับสนุนให้เข้ามาระดมเงินทุนในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

อีกแหล่งรายได้ภาษีใหม่ที่กำลังเป็นกระแสที่ร้อนแรงที่สุดในตอนนี้คือ การเสียภาษีจากคริปโตเคอเรนซี ที่กฎหมายกำหนดไว้หากมีการขายแล้วมีกำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา40(4)(ฌ)ซึ่งผู้จ่ายเงินได้(ผู้ซื้อ) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% และยังคงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาประจำปี ตามปีที่ได้กำไรด้วย ขณะที่ในรายละเอียดบางประเด็นยังไม่มีความชัดเจนทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวออกมาตั้งคำถาม ขณะที่บางส่วนก็แสดงความไม่เห็นด้วย

 

ด้านดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งซิปเม็กซ์ (Zipmex) ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลระบุว่า ความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการคำนวณและจัดเก็บภาษีคริปโตที่ออกมาจากกรมสรรพากรในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ก่อให้เกิดเสียงตอบรับจากนักลงทุนในเชิงไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก แม้การเก็บภาษีจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่ภาครัฐควรมีความชัดเจนว่าจะมองคริปโตเป็นสินค้าหรือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เหมือนเช่นการจัดเก็บภาษีคริปโตในต่างประเทศ

 

“ถ้าจะมองว่าคริปโตเป็นสินค้าก็คิดเป็น Withholding Tax ไป แต่นี่เรามองเป็นสินทรัพย์ด้วยจึงจัดเก็บ Capital Gain Tax อีก แต่ Capital Gain Tax ก็ไม่เหมือนในประเทศอื่นที่เขาแยกจากภาษีรายได้บุคคล ไม่ใช่คิดเฉพาะจากกำไร ส่วนขาดทุนเอามาหักลบกันไม่ได้ ผมคิดว่าการคิดแบบนี้เป็นการคิดภาษีที่ผิดหลักการ จริยธรรม และผิดจากหลายตำราเลย ส่วนการคิดภาษีเฉพาะที่มีกำไรในลักษณะ Growth Income Tax ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้ามีโอกาสได้พูดคุยกับภาครัฐอาจต้องถามตรงๆ เลยว่าเก็บภาษีตรงนี้เพื่อไม่อยากให้วงการดิจิทัลเกิดหรือเปล่า ปิดกั้นหรือเปล่า ถ้าเขาบอกว่าปิดกั้นก็ต้องบอกเลยว่าแล้วคุณให้ใบอนุญาตผมมาทำไม ซึ่งคงต้องคุยกันตรงๆ”

 

มาดูอีกแหล่งรายได้ภาษีใหม่ที่กำลังถูกเล็งคือ "ภาษีความเค็ม"โดยเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิต ไปศึกษาแนวทางการเก็บภาษีความเค็ม เพื่อควบคุมปริมาณการใช้โซเดียมในส่วนประกอบของอาหาร เนื่องจากส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพ

 

ในเบื้องต้นจะใช้รูปแบบเดียวกับการจัดเก็บภาษีความหวาน ที่ใช้ปริมาณเป็นตัวกำหนดอัตราการเสียภาษี ส่วนจะเริ่มใช้เมื่อไหร่นั้น ยังต้องรอดูความเหมาะสมของสถานการณ์ รวมทั้งความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ร้านอาหาร และผู้บริโภค

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า คาดว่าภาครัฐอาจประกาศแนวทางปฏิบัติในปี 2565 เพื่อให้ผู้ผลิตเตรียมการปรับปรุงการผลิตก่อนจะกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ในระยะต่อไป โดยจังหวะการเก็บภาษี หากบังคับใช้จริง คงจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

 

ทั้งนี้ประเมินว่า กลุ่มสินค้าที่อาจเข้าข่ายมีปริมาณโซเดียมสูง โดยวัดจากปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์จากการสำรวจสุ่มตัวอย่างสินค้าในตลาด น่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 88,000 ล้านบาทในปี 2565 หรือคิดเป็น 18% ของมูลค่าตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด

 

ดังนั้นใน 2565 นี้คงจะได้เห็นความชัดเจนถึงการจัดเก็บรายได้ภาษีประเภทใหม่ๆ ทั้งภาษีกำไรคริปโตเคอเรนซี ที่กฎหมายกำหนดบังคับแน่นอนว่าต้องถูกเก็บ รวมถึงภาษีการขายหุ้นกับภาษีความเค็มที่กำลังเป้าหมายต่อไปของแหล่งรายได้ภาษี รวมถึงต้องติดตามในอนาคตจะมีการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ๆ จะมีตามออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพราะตอนนี้คลังอยู่ระหว่างทำแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐให้มีความยั่งยืนที่คลังกำลังจัดทำยังไม่เสร็จสมบูรณ์

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT