ข่าวเศรษฐกิจ

2021 ปีทอง Soft Power เกาหลี โลกคลั่งไคล้ ทำเงินได้ทุบสถิติ!

30 ธ.ค. 64
2021 ปีทอง Soft Power เกาหลี โลกคลั่งไคล้ ทำเงินได้ทุบสถิติ!

ปี 2021 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีทองของอิทธิพล Soft Power เกาหลีใต้ ที่กลับมาคัมแบ็กโดดเด่นที่สุดนับตั้งแต่ยุค กังนัมสไตล์ ของ Psy เมื่อ 10 ปีก่อน และสามารถ "จุดติด" กระแสไวรัลทั่วโลกได้อย่างเหนือคู่แข่ง



ที่จริงแล้ว "พลังละมุน" ของเกาหลีเริ่มมีแรงส่งมาตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา จากความสำเร็จของภาพยนต์เรื่อง "Parasite" ที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ตั้งแต่ช่วงต้นปี เรื่อยมาจนถึงด้าน "อาหาร" เช่น จาปากูรี ที่สอดแทรกมาจากหนังดังกล่าว ก่อนจะไปต่อที่ความสำเร็จของวงการเพลง "K-Pop" ที่ได้คิงและควีนของวงบอยแบนด์-เกิร์ลกรุ๊ปอย่าง BTS และ Blackpink ไปขยายอิทธิพลเคป๊อปในต่างประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถจุดติดความเป็นไวรัลบนพื้นที่โซเชียลในระดับทั่วโลก ได้เหมือนกับ "Squid Game" ในปีนี้



ทีมข่าว Spotlight ได้ประมวลความสำเร็จของ Soft Power เกาหลีใต้ ในปีนี้ผ่าน 4 หัวข้อหลักด้วยกัน ดังนี้


Squid Game

  • ซีรีส์ Squid Game ที่ออกฉายบนแพลตฟอร์ม Netflix เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ได้กลายเป็น "ปรากฎการณ์" ที่สร้างความเป็นที่สุดในหลายด้าน โดยขึ้นอันดับ 1 ของ Netflix ใน 90 ประเทศทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
  • การที่ซีรีส์เรื่องนี้จับประเด็นเรื่อง "ความเหลื่อมล้ำ" ซึ่งเป็น "ความเจ็บปวดร่วมสากล ที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้" โดยเฉพาะความร่ำรวยที่ถูกผูกขาด และเมื่อมาอยู่ในแพล็ตฟอร์มคนรุ่นใหม่อย่าง Netflix ที่วัยรุ่นมักจะต่อยอดคอนเทนต์เชื่อมไปถึงโซเชียลมีเดียฮอตฮิตอื่นๆ เช่น TikTok จึงทำให้สควิดเกมกลายเป็นไวรัลในโซเชียลทั่วโลก ซึ่งจับต้องได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับหนังเรื่อง Parasite แม้จะพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำเหมือนกันก็ตาม

564000010522601

  • สร้างปรากฎการณ์ให้นักแสดงหญิง จองโฮฮยอน มียอดผู้ติดตามใน IG แซงทุกคนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มนักแสดงหญิงเกาหลี และกลายเป็นท็อปอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ทำเงินได้ถึง 1.45 ล้านบาท ต่อการโพสต์โฆษณา 1 โพสต์
  • มีการนำไปต่อยอดแคมเปญกิจกรรมในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส จัดกิจกรรมเกมแกะน้ำตาลที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ขณะที่ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีใต้ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จัดการแข่งขัน Squid Game ของจริงขึ้น ชื่อของ Squid Game ยังถูกนำไปทำเหรียญมีมคริปโต และยิ่งดังขึ้นไปอีกเมื่อเหรียญดังกล่าวเกิดการ Rug pull เจ้าของโปรเจกต์ฉ้อโกงเชิดเงินหนี



K-Pop

  • 2021 นับเป็นปีที่ K-Pop ยิ่งต่อยอดความสำเร็จ Soft Power ในระดับโลกได้มากขึ้น โดยขยายออกจากความเป็นเพลงเคป๊อบเฉพาะกลุ่ม ทำเพลงภาษาอังกฤษและคอลแลปกับศิลปินระดับโลก เช่น Coldplay ไปบุกชาร์ตเพลงในระดับสากลและในประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น นำโดยวงบอยแบนด์แห่งชาติ BTS และโซโล่อัลบั้มของ ลิซ่า Blackpink
  • ปีนี้ BTS ได้สร้างไวรัลระดับโลก ด้วยคลิปโชว์เพลง 'Permission To Dance' ซึ่งถ่ายทำจริงในบริเวณอาคารสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ นิวยอร์ก ทั้ง 7 หนุ่มในฐานะของตัวแทนพิเศษด้านคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ยังได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เกี่ยวกับวิกฤตการณ์โควิด-19 และปัญหา Climate Change อีกด้วย นอกจากภาพลักษณ์ที่ไม่เคยมีบอยแบนด์วงไหนทำได้แบบนี้มาก่อนแล้ว BTS ยังสร้างประวัติศาสตร์คว้าทุกรางวัลที่เข้าชิงในงาน Billboard Music Awards ที่ลอสแอนเจลิส

e_ux3giviaceo_d

  • "ลิซ่า Blackpink" เป็นอีกหนึ่งศิลปินเคป๊อปชาวไทย ที่มีส่วนสำคัญในการพาเพลงป๊อปเกาหลีออกนอกกรอบเดิมๆ โดยพาโซโล่อัลบั้มแรก LALISA ไปติดชาร์ตระดับโลกต่างๆ ตั้งแต่ Youtube, Spotify และ Billboard และยังสามารถเจาะชาร์ตเพลงเดี่ยวในหลายประเทศได้ โดยลิซ่านั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริม การเป็นศิลปินเกาหลีเพียงไม่กี่คนที่ "จีน" ยอมรับ นับเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่ทำให้แบรนด์สินค้าระดับโลกต่างๆ วิ่งเข้าหา และยิ่งเมื่อเพลง Money จุดติดพ่วงไปกับซีรีส์ Squid Game ในแพล็ตฟอร์ม TikTok ก็ยิ่งช่วยในด้านความเป็นไวรัลติดหูในโลกโซเชียล ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างนอกกรอบ K-Pop และกลายเป็น 1 ในความสำเร็จของ Soft Power เกาหลีปีนี้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

    blackpink-s-lisa-in-lalisa-mv



K-Food

  • อิทธิพลซอฟต์พาวเวอร์ผ่านซีรีส์ หนัง และเพลง ไปจนถึงการทำการตลาดผ่านสปอนเซอร์ เช่น แบรนด์อาหาร Bibigo ที่เป็นสปอนเซอร์ทีมบาสเก็ตบอล LA Lakers จนมีภาพของ Le Bron James ใส่เสื้อบาสที่มีโลโก้ของบิบิโกอยู่ด้านหลัง ล้วนแล้วแต่เป็นการขยายอิทธิพลให้อาหารเกาหลี
    อยู่ในกระแสความสนใจหลักของโลก ส่งผลให้ในปีนี้ (ถึงวันที่ 25 พ.ย.) ยอดส่งออกสินค้าในหมวดอาหารของเกาหลีใต้ เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 16.1% ไปอยู่ที่ 10,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.42 แสนล้านบาท) โดยเป็นการทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก
  • ในบรรดาอาหารที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ประกอบไปด้วยสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่ สตอว์เบอร์รี องุ่น ผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย ไปจนถึง กิมจิ และโสม โดยเฉพาะสาหร่ายนั้นสามารถส่งออกไปถึง 600 ล้านดอลลาร์

    korean-food-jajangmyeon-noodl
  • ขณะที่อาหารอย่าง "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" หรือ รามยอน ซึ่งประสบความสำเร็จมากจากคลื่นวัฒนธรรมป๊อบเกาหลี ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นถล่มทลยเช่นกัน บริษัทรามยอนรายใหญ่ Nongshim มียอดขายในไตรมาส 3 สูงสุดทุบสถิติใหม่ที่ 6.9 แสนล้านวอน ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นยอดขายในต่างประเทศ และนับเป็นครั้งแรกที่ยอดขายบะหมี่ยี่ห้อ Shin Ramyun ในต่างประเทศแซงหน้ายอดขายภายในประเทศได้ ขณะที่บริษัท Samyang Foods ซึ่งมีจุดขายที่มาม่าเผ็ด สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ 2.3 แสนล้านวอนในไตรมาส 3 หรือมากกว่ายอดขายในประเทศ 3 เท่า โดยมีตลาดส่งออกหลักที่ จีน กลุ่มประเทศอาเซียน และสหรัฐ




K-Beauty

  • จากการบุกเบิกของ K-Drama และ K-Pop ที่ทำให้ทั่วโลกหันมายอมรับในความงามแบบหนุ่มสาวเกาหลี ส่งผลให้ยอดการส่งออกเครื่องสำอางของเกาหลีในปี 2020 ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมากถึง 16.1% เมื่อเทียบปี 2019 อยู่ที่ 7,570 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทางการเกาหลีอ้างตัวว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องสำอางรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่ฝรั่งเศส และสหรัฐ เท่านั้น
  • ในปี 2021 นี้ยังไม่มีการรวบรวมตัวเลขทางการออกมา แต่จากข้อมูลของหน่วยงานที่ดูแลด้าน SME และสตาร์ทอัพในเกาหลีใต้ เดือน ต.ค. ปีนี้พบว่า การส่งออกเครื่องสำอางของบริษัทในกลุ่มเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้นเป็น 4,390 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตมากถึง 1,278% ในช่วง 11 ปีมานี้
    soko_bokb2020-1
  • สำนักข่าว Nikkei รายงานอ้าง Trendyol ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในประเทศตุรกี ว่า จากเดิมที่ขายเครื่องสำอางเกาหลีได้ประมาณ 1.35 แสนชิ้นในปี 2019 ยอดขายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า เป็น 6.65 แสนชิ้นในปีนี้ และมีรายงานว่า K-Beauty กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จนถึงอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของวงการเครื่องสำอางเกาหลี

 

 

 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT