ธุรกิจการตลาด

เปิดชื่อศิษย์เก่า 'ฮาร์วาร์ด' สถาบันเก่า 'ทิม พิธา' ว่าที่นายกคนที่ 30

16 พ.ค. 66
เปิดชื่อศิษย์เก่า 'ฮาร์วาร์ด' สถาบันเก่า 'ทิม พิธา' ว่าที่นายกคนที่ 30

ในนาทีนี้ ผู้ชายที่คนไทยทั้งประเทศน่าจะจับตามองมากที่สุด ก็คือ ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย หลังพรรคได้รับคะแนนเสียงจนได้ที่นั่งส.ส.แบบแบ่งเขตถึง 113 ที่นั่ง และที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อรวมถึง 39 ที่นั่ง จาก 14,233,895 โหวต

หากพิธาสามารถรวบรวมพรรคร่วมรัฐบาล และได้รับการโหวตสนับสนุนจากส.ว. จนสามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุเพียง 42 ปี และอายุน้อยที่สุดในรอบ 70 ปี นอกจากนี้ยังเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่จบการศึกษามาจากสถาบันการศึกษาที่โด่งดังระดับโลกถึง 2 ที่ด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ซึ่งจากการจัดอันดับของ QS World University Rankings เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอันดับ 5 และ 1 ตามลำดับ

istock-520366580

โดยนอกจากพิธาแล้ว มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตผู้นำระดับโลกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นในวงการการเมือง วงการธุรกิจ หรือวงการวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารและบุคคลสำคัญของไทยบางส่วนก็จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยนี้

บทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนมารู้จักมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกันว่า มีอิทธิพลอย่างไร? ต่อภาคเศรษฐกิจและการเมืองของโลก และมีบุคคลสำคัญใดของไทยบ้างที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้

 

มหาวิทยาลัยที่ผลิตผู้นำการเมืองและธุรกิจมากที่สุดในสหรัฐฯ

“มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด” เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐฯ โดยก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1636 หรือเมื่อ 387 ปีก่อน ทำให้ฮาร์วาร์ดถือได้ว่า เป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงแห่งแรกใน ‘โลกใหม่’ แต่ตั้งต้นมีศิษย์เก่าที่ล้วนแต่เป็นชนชั้นสูงในสหรัฐฯ ในขณะนั้น ทำให้ฮาร์วาร์ดมีดีกรีทั้งในด้านความเก่าแก่ และศิษย์เก่าที่ล้วนแต่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน

the-harvard-school-1836

โดยตัวอย่างศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงของฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ มีดังนี้

  1. อดีตประธานาธิบดี 8 คน เช่น จอห์น อดัมส์ (John Adams), John F. Kennedy  (จอห์น เอฟ. เคนเนดี), Franklin D. Roosevelt (แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์), George W. Bush (จอร์จ ดับเบิลยู. บุช) และ บารัค โอบามา (ฺBarack Obama)
  2. ผู้ได้รางวัลโนเบลจากสาขาต่างๆ รวม 161 คน เป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก เช่น อภิจิต บาเนอร์จี (Abhijit Banerjee) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2019 เจ้าของหนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’
  3. ผู้ได้รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer) หรือ รางวัลสำหรับนักเขียน และผู้ทำงานในวงการสิ่งพิมพ์จำนวน 47 คน เช่น สิทธัตถะ มูเคอร์จี (Siddhartha Mukherjee) ผู้เขียน ‘จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง’ และ ซาแมนธา พาวเวอร์ (Samantha Power) เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ผู้เขียน ‘A Problem from Hell : America and the Age of Genocide’
  4. นักธุรกิจระดับสูงและซีอีโอของบริษัทใหญ่จำนวนมากกว่า 40,000 คน เช่น คริส เคมป์ซินสกี (Chris Kempczinski) ซีอีโอของ McDonald’s, เจมี ไดมอน (Jamie Dimon) ซีอีโอของ JPMorgan Chase และ เจน เฟรเซอร์ (Jane Fraser) ซีอีโอของ Citigroup

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลสำคัญในวงการต่างๆ เช่น เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นระเบิดปรมาณู รวมไปถึงดารานักแสดง เช่น แมท เดมอน (Matt Damon) และ นาตาลี พอร์ตแมน (Natalie Portman)

 

ศิษย์เก่าคนไทย

นอกจากศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว นักการเมืองที่เป็นนักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงหลายๆ คนของไทยก็จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยนอกจากพิธาแล้ว ศิษย์เก่าคนไทยที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ในสาขาต่างๆ ยังมีอีกดังนี้

  1. นายบัณฑูร ล่ำซำ ทายาทธุรกิจตระกูลล่ำซำ และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  2. ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย และเลขาธิการอาเซียน จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  3. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จบการศึกษาหลักสูตร Senior Managers in Government ที่ John F. Kennedy School มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  4. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการกฤษฎีกา และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการวางแผนการศึกษา จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  5. นางญารินดา บุนนาค นักร้อง, นักแสดง, พิธีกร และสถาปนิก จบการศึกษาจากบัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  6. นายณัฐ ศักดาทร นักร้อง และนักแสดง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 artboard1copy_42

 

คนแบบไหนจึงจะเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ดได้?

จากลิสต์ศิษย์เก่า จะเห็นได้ว่า นอกจากคนจะเข้าเรียนในฮาร์วาร์ดจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถแล้ว ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมักจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี และค่อนข้างมีอิทธิพลในวงสังคมการเมือง 

ทั้งนี้ เพราะฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการแข่งขันสูงมาก คือ รับแค่ 4.8% ของผู้ที่สมัครเข้าไปศึกษาเท่านั้น ทำให้ผู้ที่รับผิดชอบการคัดเลือกนักเรียนมักจะเลือกเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถจนมีแววจะก้าวขึ้นไปเป็นคนสำคัญของโลกในอนาคตได้ หรือเด็กที่มาจากพื้นฐานครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงที่มีความสามารถ และสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งสูงๆ ได้อยู่แล้วด้วยพื้นฐานครอบครัว

นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังขึ้นชื่อว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถมากที่สุดในโลก เพราะในฐานะนักวิชาการ ไม่ว่าใครก็อยากจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สอนในหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก มีเพื่อนร่วมงานที่มีชื่อเสียงในวงวิชาการด้วยกัน และได้เป็นผู้สอนนักศึกษาเก่งๆ ที่จะก้าวขึ้นไปเป็นบุคคลสำคัญในอนาคต 

ด้วยเหตุนี้ ฮาร์วาร์ดจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ต้องการสูงของทั้งนักศึกษาและอาจารย์ เพราะการได้เข้าไปเรียนและทำความรู้จักกับผู้ที่อยู่ในฮาร์วาร์ดด้วยกัน ก็แทบจะประกันความสำเร็จ เส้นสาย และชื่อเสียงในอนาคตได้แล้ว

 

ที่มา: Resume.io, Business Chief



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT