ธุรกิจการตลาด

ส่องแพคเกจชดเชยเลย์ออฟ ของบริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ

24 ม.ค. 66
ส่องแพคเกจชดเชยเลย์ออฟ ของบริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ

ตอนนี้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐกำลังสั่นคลอนอย่างหนักหลังหลายๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการทยอยออกมาประกาศเลิกจ้างหรือปลดพนักงานกันยกใหญ่ในเดือนมกราคมเพื่อลดต้นทุน โดยรายชื่อบริษัทก็มีตั้งแต่ Meta (บริษัทแม่ Facebook ), Alphabet (บริษัทแม่ Google), Microsoft, Amazon และอื่นๆ รวมแล้วจำนวนมากกว่า 55,000 คนในเวลาไม่ถึง 1 เดือน

นี่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากกระแสจ้างงานเทคโนโลยีในช่วง ปี 2019 ที่เพิ่มขึ้นมากจากดีมานด์ผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในเมื่อผู้คนกลับมาใช้ชีวิตในแบบเดิมก่อนมีโรคระบาดแล้ว ฟองสบู่เทคโนโลยีก็ย่อมแตก ทำให้ดีมานด์และรายได้ของบริษัทเหล่านี้ลดลงตามไปด้วย

การเลิกจ้างงานแน่นอนว่าย่อมตามมาด้วยการจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม ที่สหรัฐอเมริกาไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างจะต้องจ่ายแพคเกจชดเชยเลิกจ้างให้กับพนักงาน ทำให้สิ่งที่ลูกจ้างจะได้เมื่อถูกเลิกจ้างขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างล้วนๆ ซึ่งถึงแม้จะไม่มีกฎหมายบังคับ บริษัทส่วนมากก็จะให้ทั้งเงินชดเชย และสวัสดิการอื่นๆ เพราะถ้าหากไม่ให้อะไรเลยจะเป็นการทำลายชื่อเสียงของบริษัท และทำให้ฝ่ายบุคคลหาพนักงานเก่งๆ มาทำงานด้วยยากขึ้นในอนาคต

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แพคเกจการจ่ายชดเชย ทั้งเงินและสวัสดิการของแต่ละบริษัทในสหรัฐฯ ไม่เหมือนกัน แตกต่างกับพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานของไทย ที่กำหนดไว้ว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด โดยเงินชดเชยที่ได้จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำงานมา เช่ย ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นต้น 

จากการรายงานของ CNBC แต่ละบริษัทเทคโนโลยีที่ออกมาประกาศเลย์ออฟพนักงาน ได้สัญญากับพนักงานว่าจะให้ค่าชดเชย และสวัสดิการ ดังต่อไปนี้

923100

 

  • Google

จำนวนพนักงานที่เลย์ออฟ: 12,000 คน

สิ่งที่พนักงานได้:

1) เงินชดเชย 4 เดือน และเงินชดเชยสำหรับทุกปีที่ทำงานที่ Google มา 

2) โอกาสได้รับหุ้นของบริษัทเพิ่มอีก 4 เดือนหลังถูกจ้างออก

3) สวัสดิการสุขภาพ 6 เดือน

 

  • Microsoft

จำนวนพนักงานที่เลย์ออฟ: 10,000 คน

เงินที่คาดว่าจะต้องใช้ไปกับการเลิกจ้าง: 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.9 หมื่นล้านบาท)

สิ่งที่พนักงานได้:

1) เงินชดเชยแบบไม่ระบุปริมาณ

2) ประกันสุขภาพและมีโอกาสได้หุ้นบริษัทเพิ่มอีก 6 เดือนหลังถูกจ้างออก

3) หนังสือแจ้งล่วงหน้า 2 เดือน

 

  • Amazon

จำนวนพนักงานที่เลย์ออฟ: 18,000 คน

สิ่งที่พนักงานได้:

1) ค่าจ้างและสวัสดิการ 2 เดือนโดยไม่ต้องทำงาน

2) เงินชดเชยตามระยะงาน

3) เงินช่วยเหลือและสวัสดิการด้านสุขภาพในช่วงหางานใหม่

4) ความช่วยเหลือในการหางานใหม่

 

  • Salesforce

จำนวนพนักงานที่เลย์ออฟ: มากกว่า 7,000 คน

เงินที่คาดว่าจะต้องใช้ไปกับการเลิกจ้าง: 1-1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3-4.6 หมื่นล้านบาท)

สิ่งที่พนักงานได้:

1) เงินชดเชยอย่างน้อย 5 เดือน

2) ประกันสุขภาพ 6 เดือน

3) ความช่วยเหลือในการหางานใหม่ 2 เดือน

 

  • Meta

จำนวนพนักงานที่เลย์ออฟ: มากกว่า 11,000 คน

สิ่งที่พนักงานได้:

1) เงินชดเชย 4 เดือน และอีก 2 สัปดาห์สำหรับทุกปีที่ทำงานมา

2) หุ้น Meta ที่จะได้จากการทำงานครบระยะเวลาในสัญญา

3) ประกันสุขภาพ

 

  • Twitter

จำนวนพนักงานที่เลย์ออฟ: มากกว่า 3,700 คน

สิ่งที่พนักงานได้: 1) เงินชดเชย 3 เดือน


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บริษัทเหล่านี้จะได้ออกมาให้ข่าวกับสำนักข่าว หรือประกาศว่าจะให้เงินและสวัสดิการชดเชยการเลิกจ้าง แต่พนักงานของบางบริษัทที่ถูกเลย์ออฟกลับบอกว่า พวกเขาไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่ซีอีโอของบริษัทเหล่านี้สัญญาไว้ อย่างเช่น พนักงาน Meta ที่กล่าวว่าพวกเขาได้รับเงินชดเชยเพียง 2 เดือนเท่านั้น แทนที่จะเป็น 4 เดือน

สำหรับบางบริษัท เช่น Twitter ก็ต้องเข้าสู่กระบวนทางกฎหมายกับลูกจ้างเก่า เพราะทำผิดกฎหมายแคลิฟอร์เนีย ไม่แจ้งการเลย์ออฟก่อนล่วงหน้า 60 วัน นอกจากนี้ยังให้เงินชดเชยเพียง 1 เดือนจาก 3 เดือน พร้อมให้เซ็นสัญญายกสิทธิฟ้องร้องบริษัทในภายหลัง นอกจากนี้ Twitter ยังได้เลิกจ้างพนักงานสัญญาจ้างถึง 4,000 คนโดยไม่ได้แจ้งก่อนอีกด้วย

ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้คงไม่มีพนักงานคนไหนอยากถูกเลิกจ้าง แต่หากจะโชคร้ายโดนเลย์ออฟเข้าซักวันก็คงอยากจะให้บริษัทชดเชยให้อย่างที่สัญญาไว้…ดีกว่าตกงานโดยไม่ได้อะไรเลย 

 

ที่มา: CNBC

 

advertisement

SPOTLIGHT