กปน.เตือนน้ำประปากร่อยถึง 15 ก.พ. ย้ำการต้มไม่ช่วย

9 ก.พ. 64

กปน.ชี้น้ำ 10-15 ก.พ.นี้ คาดน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำประปากร่อยถึง 15 ก.พ. ย้ำการต้มไม่ช่วยให้หายเค็ม ของกลุ่มเสี่ยงระวังบริโภค 

วันนี้ (9 ก.พ.64) นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ในฐานะโฆษก กปน.กล่าวว่า ตามที่ กปน.ได้แจ้งสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระลอกตลอดเดือน ก.พ.นี้ ส่งผลให้รสชาติน้ำประปากร่อยเป็นบางช่วงเวลาในบางพื้นที่ โดยในวันที่ 10-15 ก.พ.นี้ คาดว่าจะส่งผลยาวนานกว่าที่ผ่านมาก โดยกปน.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำกทม.ในการร่วมปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation :กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) ระหว่างวันที่ 8-11 ก.พ.นี้ 2564 เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแลให้มากที่สุด

สำหรับประชาชน กปน.ขอแนะนำแนวทางการใช้น้ำประปาในช่วงภัยแล้งสำหรับประชาชน ดังนี้ 

  • ผู้ที่มีสุขภาพปกติ สามารถบริโภคน้ำประปาได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่รสชาติที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลต่อความน่าดื่ม
  • สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก
  • การนำน้ำประปาไปต้ม ไม่ได้ช่วยให้น้ำประปาหายเค็ม เนื่องจากสิ่งที่ระเหยไปคือน้ำ แต่ตัวเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย ดังนั้น ยิ่งทำให้น้ำระเหยไปมากเท่าไร ยิ่งทำให้สัดส่วนความเค็ม หรือ ความกร่อยเพิ่มมากขึ้น

สำหรับบ้านที่ไม่มีถังพักน้ำ สามารถสำรองน้ำประปาที่มีค่าคลอไรด์ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานไว้บริโภคได้ โดยติดตามจากการคาดการณ์คุณภาพน้ำประปาประจำวัน แต่สำหรับบ้านที่มีถังพักน้ำ อาจจะมีน้ำประปาเก่าที่มีรสกร่อยค้างอยู่ในถัง ดังนั้นแนะนำให้สำรองน้ำประปาเข้าถังพักน้ำ ตามช่วงเวลาคาดการณ์คุณภาพน้ำประปาของ กปน หรือทดลองชิมน้ำประปาหากไม่มีรสชาติกร่อย ก็สามารถสำรองน้ำไว้บริโภคได้

ประชาชนสามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาดื่มได้ฟรี ซึ่งเป็นน้ำประปารสชาติปกติ ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้านท่าน และหากวันใดที่ไม่มีน้ำทะเลหนุนสูง ก็สามารถบริโภคน้ำประปาและสำรองน้ำประปาไว้ใช้ได้ ตามช่วงเวลาที่แนะนำ

สำหรับค่าค่าความเค็ม ข้อมูลล่าสุด กปน.รายงานว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ระบุว่าในพื้นที่ ที่มีช่วงกราฟสีแดงค่าคลอไรด์ เกินกว่า 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่งผลต่อการรับรู้รสชาติ ประมาณ 0-9 ชั่วโมง (ค่าคลอไรด์ ต้องมากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ถึงจะส่งผลต่อการรับรู้รสชาติ ตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ