อวสาน เรือหลวงสุโขทัย ทำไมถึงล่ม ผู้การเรือ รับผิดชอบลาออกจากราชการ

9 เม.ย. 67

 

ผบ.ทร. นำทีมแถลงผลสอบ เรือหลวงสุโขทัยล่ม เหตุดินฟ้าอากาศ -เรือเก่า รับผู้การเรือ ตัดสินใจพลาด พร้อมแสดงความรับผิดชอบ ลาออกจากราชการ 

วันที่ 9 เม.ย. 67 ที่ห้องเจ้าพระยาหอประชุมกองทัพเรือ กทม. พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผบ.ทร. เป็นประธานแถลงผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง 

โดย พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 24 รายและผู้สูญหาย 5 ราย นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 คณะ โดยนำผลการสอบสวนเบื้องต้นมาใช้อย่างละเอียดตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการอันเนื่องมาจากการกระทำอันละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ 2542 

ขณะนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทุกคณะได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงให้กองทัพเรือทราบแล้ว 

ด้าน พล.ร.ต.อภิรมย์ เงินบำรุง เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ระบุว่า สาเหตุของเรือหลวงสุโขทัยจม พบความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายแห่ง ตำแหน่งแรกแผ่นการคลื่น หน้าป้อมปืน 76 มม. ยุบตัวเพราะเจอคลื่นแรง จนดึงแผ่นเหล็กบนดาดฟ้าเปิด ทำให้เกิดเป็นช่องรูใหญ่พื้นที่1 ตารางนิ้ว ตำแหน่งที่ 2 ความเสียหายของป้อมปืน 76 มม. เนื่องจากโดนวัตถุของแข็งกระแทก ซึ่งไม่พบหลักฐาน เพราะวัตถุที่ว่าไม่ติดค้างที่ป้อมปืนจึงบอกไม่ได้ว่าคืออะไร แต่เชื่อว่าโดนวัตถุขนาดใหญ่กระแทกแน่นอน เป็นช่องที่ทำให้น้ำเข้าเรือได้ 

ตำแหน่งที่ 3 รูทะลุบริเวณกงที่ 35 กราบซ้าย จำนวน 2 แห่ง สูงจากน้ำ 5 ฟุต  โดนวัตถุภายนอกกระแทกเข้าไป รอยดังกล่าวไม่ได้เกิกที่ส่วนรอยเชื่อม จึงไม่ได้เกิดจากการซ่อมทำ ซึ่งรอยกระแทกดังกล่าว ไม่พบวัตถุที่ตกค้างว่ากระแทกจากอะไร ทำเป็นรอยกว้างยาว 1 ฟุต กว้าง 3-4 นิ้ว มีพื้นที้ 80 ตารางนิ้ว ตำแหน่งที่ 4 ประตูห้องกระชับเชือกที่อยู่ในลักษณะเปิด  มีโอกาสน้ำเข้าได้เมื่อประตูเปิด ตำแหน่งที่ 5 ประตูท้ายห้อง gun bay ด้านป้อมปืน 76 มม.ที่ปิดไม่สนิท ทั้งหมดนี้สรุปความเสียหายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เรือเสียการทรงตัวและอับปาง 

ส่วนลำดับเวลาที่เรือวิ่งจาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีไปหาดทรายรี จชุมพร เครื่องขัดข้องนั้นซึ่งกรณีที่เรือเจอคลื่นสูงก็จะพบกรณีนี้อยู่บ้าง เนื่องจากน้ำมันที่อยู่ในถังสกปรก ไปชำระเศษฝุ่น อุดตันหัวฉีด ส่งผลให้หัวฉีดบางส่วนใช้การไม่ได้ ทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถรับภาระได้ อีกทั้งเรือหลวงสุโขทัยก็ใช้งานมากกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงท้ายที่จะเข้าสู่การปลดประจำการ 

ขณะที่ พล.ร.ท.สุรศักดิ์ สิงขรวัฒน์ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทัพเรือภาคที่ 1 ระบุว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่า เรือหลวงสุโขทัยอับปางไม่ได้เกิดจากความจงใจของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย รวมถึงกำลังพลบนเรือ แต่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลัน ทำให้เรือเกิดสภาวะผิดปกติและน้ำเข้าเรือ จากรูทะลุเป็นเหตุทำให้เรือเอียงและอับปาง การตัดสินใจนำเรือปรับฐานสัตหีบของผู้การเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีระยะทางไกลและใช้ระยะเวลาเดินทางมากกว่า เป็นดุลยพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหาย เชื่อว่าการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย มีส่วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ 

ทั้งนี้ในการใช้ดุลยพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหายของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารพ.ศ 2476 โดยเห็นสมควรลงทันณ์ "กัก" เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งทัพเรือภาคที่ 1 ได้ประเมินให้กองทัพเรือได้ดำเนินการทางวินัย กับผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัยแล้วส่งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องส่วนในความผิดทางอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพานที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป 

ส่วน พล.ร.อ.ชัยณรงค์ บุญยรัตกลิน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดชอบทางละเมิด กล่าวถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดว่า จากผลการสอบสวนได้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการจงใจ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยจากสภาพอากาศทั้งสิ้น และการตัดสินใจของผู้การเรือในการหันหัวเรือกับสัตหีบสามารถดำเนินการได้ ถือเป็นดุลยพินิจของผู้การเรือหลวงสุโขทัย จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องรับผิดทางละเมิด ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น 

ด้าน น.ท.พิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือหลวงสุโขทัย ตนขอยืนยันว่าไม่มีผู้ใดตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ตนและกำลังพลทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างสุดความสามารถ เพื่อกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ตามขั้นตอน ในเหตุวิกฤตที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าที่จะควบคุมได้ 

ในสถานการณ์วิกฤตและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นในฐานะผู้บังคับการเรือจำเป็นต้องมีการตัดสินใจ ดังนั้นการนำเรือกลับสัตหีบจึงมาจากการใช้ดุลยพินิจของตน ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เรือยังอยู่ในสภาวะปกติไม่เอียง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือสามารถควบคุมได้ จึงเชื่อว่าสามารถนำเรือกลับได้ 

แต่หลังจากที่ตัดสินใจนำเรือกลับ สภาพอากาศแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเลวร้ายกว่าเดิม ซึ่งการตัดสินใจของตนอาจเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่รอบคอบ จึงส่งผลต่อการทรงตัวที่เกิดขึ้นดังนั้น ในฐานะผู้บังคับการเรือขอแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ ขอยอมรับโทษตามกองทัพเรือภาคที่ 1 และผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะเห็นควร นอกจากนี้แล้วหลังจากเรื่องทุกอย่างเสร็จสิ้น ตนขอแสดงโจทย์จำนงค์ ลาออกจากกองทัพเรือ รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นการดำรงไว้ซึ่งเกียรติและตำแหน่งผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย 

ทั้งนี้ น.ท.พิชิตชัย ยืนยันว่า ตนเองมีอิสระในการตัดสินใจ จากสถานการณ์หน้างาน การหันหัวเรือกลับสัตหีบ ไม่ใช่การกดดันจากใครทั้งสิ้น เป็นการตัดสินใจของตนแต่เพียงผู้เดียว พร้อมทั้งยืนยันว่าผลการสอบสวนทั้งหมดไม่ได้มีการปกปิด และไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง 

จากนั้น พล.ร.อ.อะดุง ได้กล่าวปิดท้ายการแถลงข่าวพร้อมทั้งชื่นชม อดีตผู้การเรือหลวงสุโขทัย เป็นลูกผู้ชาย ใครไม่เป็นทหารไม่รู้ เพราะตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร มาเป็นผู้การเรือต้องมีใจรัก ซึ่งการเป็นผู้การเรือเกรด A ของกองทัพเรือ เมื่อนำทัพทหารไปสูญเสีย ได้แสดงสปิริต ถ้าเขาไม่ลาออกก็ยังสามารถอยู่ได้ แต่ขอขอบคุณที่รักษากองทัพเรือไว้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม