นักวิทย์ชี้ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มนุษย์อาจมีอายุไขเพิ่มสูงถึง 120 ปี

2 ส.ค. 66

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาลาร์ดาเลน เผย ในกลุ่มประเทศพัฒนแล้ว อายุขัยของมนุษย์อาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 120 ปี ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

วันที่ 31 ก.ค.66 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาลาร์ดาเลน (MDU) ของสวีเดน เปิดเผยว่าอายุขัยของมนุษย์อาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 120 ปี ภายในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า เนื่องจากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้จากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

อิกนัต คุลคอฟ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าตัวเลขอายุขัยที่คาดการณ์ล่วงหน้าของผู้คน เช่น กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาจอยู่ที่ 100-120 ปี ในช่วงราว 50 ปีข้างหน้า ด้านบรรดาผู้สูงอายุมีแนวโน้มสุขภาพแข็งแรงดีเหมือนคนวัยสี่สิบ ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

คุลคอฟบอกว่าผู้คนจะสวมใส่อุปกรณ์อัจฉริยะกันมากขึ้นเพื่อติดตามดูสุขภาพของตัวเอง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะเชื่อมต่อกับแพทย์และโรงพยาบาล และบางกรณีอาจมีการปลูกถ่ายเซนเซอร์พวกนี้เข้าสู่ร่างกาย โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อสุขภาพที่ดีและอายุขัยยืนยาวยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นความก้าวหน้าด้านอื่นๆ จะมีส่วนส่งเสริมอายุขัยที่ยืนยาวยิ่งขึ้นด้วย โดยการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้วิธีแกะรอยเชื้อไวรัสต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะปัญญาประดิษฐ์ถูกใช้วินิจฉัยโรคต่างๆ ได้เร็วยิ่งขึ้นและพัฒนาวิธีบำบัดรักษาใหม่ๆ รวมถึงการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized medicine) มีส่วนส่งเสริมสุขภาพดีด้วย

อย่างไรก็ดี คุลคอฟชี้ว่ามีความท้าทายใหม่ๆ อยู่ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบใหญ่ที่สุดต่อระบบการดูแลสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งไม่ต้องรอถึงอนาคตแต่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้

อนึ่ง คำอธิบายเหล่านี้ของคุลคอฟมาจากการศึกษาร่วมกับเพื่อนพ้องนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฟินแลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยมีการเผยแพร่ผลการศึกษานี้ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ฟิวเจอร์ส (Futures)

ข้อมูลจาก : xinhuathai

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม