ชาวบ้านในราชบุรี พลิกวิกฤติน้ำท่วม แห่เก็บหอย สร้างรายได้ช่วงน้ำหลาก

29 ก.ย. 64

ชาวบ้านในราชบุรี พลิกวิกฤติน้ำท่วมกว่า 100 ไร่ แห่เก็บ หอยนา เอาไปปรุงอาหาร บางส่วนเอาไปขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท

หลังเกิดพายุฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ราชบุรี ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน จนส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรจำนวนหลายพันไร่ แม้จะสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านอย่างเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกันก็ยังมีชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยในพื้นที่ ต.สมถะ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ชาวบ้านต่างออกหาปูและหอยนา เพื่อนำไปประกอบอาหาร และจำหน่ายสร้างรายได้ในช่วงฤดูน้ำหลาก

1632911987639

น.ส.กมลชนก ไทรบัวแก้ว ชาวบ้าน ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม เปิดเผยว่า ในช่วงการปลูกข้าวตามปกติ ชาวบ้านในพื้นที่จะนิยมใช้ยาเบื่อกำจัดหอยนา หรือ หอยเชอรี่ ศัตรูตัวสำคัญของต้นข้าว เนื่องจากหากปล่อยไว้ หอยเชอรี่จะแพร่พันธุ์ ออกลูกจำนวนมาก แล้วกัดกินต้นข้าวจนตาย กระทั่งในฤดูฝนรอบนี้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนและแปลงเกษตรของชาวบ้านหลายร้อยไร่ ทั้งไร่นา สวนมะพร้าว กล้วย และพืชสวนครัว จนได้รับความเสียหายหนัก แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมเสียโอกาส ต่างออกตระเวนหว่านแห ตีอวนจับปลา รวมไปถึงเก็บปูและหอยนา เพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือน หรือนำไปจำหน่ายสร้างรายได้

1632912042610

โดยเฉพาะ หอยนา ที่จะพบอยู่เป็นจำนวนมากหลากหลายขนาดตามริมตลิ่ง ซึ่งชาวบ้านจะเลือกจับแต่หอยหนุ่มสาว ตัวใหญ่ประมาณเหรียญ 10 บาทขึ้นไป เมื่อนำไปประกอบอาหารจะมีรสชาติที่หวาน และเคี้ยวกรุบกรอบ แต่หากจับหอยตัวเล็ก ก็จะไม่ค่อยได้เนื้อ และหากจับหอยแก่ตัวใหญ่ๆ ก็จะได้เนื้อเยอะ แต่เนื้อจะเหนียว เคี้ยวยาก โดยในแต่ละวันชาวบ้านจะเก็บหอยได้หลายกิโลกรัม และจะนิยมนำไปต้ม หรือ นึ่ง รับประทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด รวมไปถึงรับประทานคู่กับส้มตำ ในส่วนของชาวบ้านที่จับไปขาย ก็จะมีคนสนใจซื้อรับประทานกันเป็นจำนวนมาก บางครั้งถึงกับต้องสั่งจองกันเลยทีเดียว สำหรับราคาขายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี

1632911967698

ทั้งนี้จากข้อมูล พบว่า “หอยเชอรี่” หรือ หอยโข่งอเมริกาใต้ และเป๋าฮื้อน้ำจืด มีรูปร่างคล้ายหอยโข่ง สีเปลือกมีทั้งสีน้ำตาลอ่อน และสีเขียวอมดำ ส่วนของเนื้อหอยมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองเข้ม ขนาดหอยเต็มวัย เมื่ออายุ 3 เดือน จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 โดยกลุ่มผู้เลี้ยงปลาตู้ แต่เกิดการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนล้นตลาด หอยจึงถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เข้าทำลายนาข้าวสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างหนัก จนต้องใช้ยาเบื่อหอยในการกำจัด แต่ในทางกลับกัน ชาวบ้านก็นิยมรับประทานหอยเชอรี่ เพราะรสชาติดี จนถึงขั้นจับไปเพาะเลี้ยงจำหน่ายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชาวบ้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ยอมติดกลางน้ำ กลัวโจรย่องเบาหากไม่อยู่บ้าน
- ลพบุรีนิวไฮ น้ำไหลเข้าเขื่อนวันเดียว 210 ล้าน ลบ.ม.เตรียบปรับแผนระบายน้ำอีกครั้ง
- คันดินกั้นเจ้าพระยาพังยาว ชาวป่าโมก จมน้ำนับร้อยหลังคาเรือน

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ