ความยั่งยืน

National Geographic สอนเล่าเรื่องให้ทรงพลัง แบบไม่จำกัดแพลตฟอร์ม

9 ต.ค. 66
National Geographic สอนเล่าเรื่องให้ทรงพลัง แบบไม่จำกัดแพลตฟอร์ม

พลังของการเล่าเรื่อง ไม่เพียงทำให้เรื่องที่พูดถึง เป็นที่สนใจของคนหมู่มาก แต่ยังทำให้สามารถส่งอิทธิพลต่อมวลชน กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านบวกและด้านลบได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องด้วยเรื่องราว หรือเล่าเรื่องด้วยภาพ ก็ล้วนสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับโลกได้ทั้งสิ้น

 

National Geographic


National Geographic เผย 4 องค์ประกอบสำคัญของการเล่าเรื่องที่ทรงพลัง

 

Kaitlin Yarnall, Chief Storytelling Officer ของ National Geographic เผยว่า ที่โฟรโด้ และมหากาพย์ The Lord of the Rings ยังติดตรึงในใจแฟนๆ หนังสือมายาวนานกว่า 86 ปี และยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาลอันดับต้นๆ ของโลกแม้ผ่านมาแล้วกว่า 22 ปี ก็คือการที่ตัวละคร ‘โฟรโด้’ ไม่ใช่วีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่รัก โลภ โกรธ หลง เป็นเหมือนเราทุกคน, หลากอารมณ์ในหนังที่ตลอดทั้งไตรภาค มีตั้งแต่ฉากที่บีบหัวใจที่สุด ไปจนถึงฉากที่ทำให้ใจฟูที่สุด, ปมของหนังที่ชี้ความเป็นความตายของทั้ง Middle Earth (โลกสมมติเป็นแกนกลางของเรื่อง), และบทสรุปที่น่าประทับใจ

 

Storytelling



ตัวอย่างข้างต้นนี้ ได้เล่าถึง 4 องค์ประกอบหลักของการเล่าเรื่องที่ทรงพลัง ได้แก่

 

Character (ตัวละคร) : ตัวละครจะเป็นสิ่งที่พาผู้คนเดินทางตามเส้นเรื่องไปเจอกับอุปสรรค และเรื่องราวต่างๆ ยิ่งตัวละครไม่สมบูรณ์แบบ มีปม มีบาดแผล ที่ทำให้ผู้คนทั่วไปรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้มากเท่าไร ผู้ชมจะยิ่งรู้สึกตามไปด้วยมากขึ้นเท่านั้น
 


Emotion (อารมณ์) : เรื่องเล่าที่ดี จะกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชม ซึ่งเป็นพลังสำคัญของการเล่าเรื่องเลยก็ว่าได้ โดย 7 อารมณ์ ที่นักเล่าเรื่องพึงใส่ลงไปในเรื่องราวของตน คือ

 

National Geographic Storytelling

 

4 อารมณ์ที่พึงกระตุ้น

 

  • Awe (ความประหลาดใจ) : พาผู้ชมไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่
     
  • Pride (ความภาคภูมิใจ) : ยึดโยงกับตัวตน กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ
     
  • Parental Love (ความรักแบบพ่อแม่) : ทำให้เกิดการปกป้องดูแล
     
  • Hope (ความหวัง) : ก่อให้เกิดเส้นทางไปสู่อนาคต

 

3 อารมณ์รุนแรง ที่ควรระวังในการใช้งาน

 

  • Sadness (ความเศร้า) : ทำให้คนหาทางออก เพื่อให้รู้สึกดีขึ้น

  • Anger (ความโกรธ) : มีแรงกระตุ้นสูง

  • Fear (ความกลัว) : กระตุ้นสัญชาตญาณนิ่ง หนี สู้ (Freeze, flight or fight) ของคน

 



Conflict (ความขัดแย้ง หรือปมของเรื่อง) : ปมของเรื่องถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชม ซึ่งสามารถนำไปใส่ได้ในหลากหลายส่วนของเรื่อง อาทิ

  • ใส่ไว้ตอนต้นเรื่อง เช่น ในเรื่องเล่าของมหาเศรษฐีที่เคยฝ่าฟันความลำบาก ก่อนจะค่อยๆ สร้างตัวได้ และประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้
  • ใส่ตอนต้น และกลางเรื่อง เช่น ซินเดอเรลลา ที่ตอนต้นต้องอยู่กับแม้เลี้ยงใจร้าย แต่ได้รับพรจากนางฟ้าให้ไปงานเต้นรำและเจอเจ้าชาย ก่อนจะหมดเวลาต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเก่า และได้กลับมาอยู่กับเจ้าชายอีกครั้ง
  • ใส่ตอนกลางและท้ายเรื่อง เช่น การอนุรักษ์ ‘เสือปลา’ สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของไทย ที่จากเดิมที่มีประชากรมาก กลับมีประชากรลดลงจากการรุกล้ำถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ ก่อนจะกลับมามีประชากรเพิ่มช่วงโควิด-19 ที่มนุษย์ลดกิจกรรม แต่ตัดภาพมาปัจจุบันกลับอยู่ในภาวะเสี่ยงอีกครั้ง
     

 

การเล่าเรื่อง



Resolution (การคลี่คลายของความขัดแย้ง หรือปมของเรื่อง) : หลังจากความรู้สิ่งด้านลบที่ผู้ชมรู้สึกจากการเจอปมของเรื่อง ได้ถูกคลี่คลาย อารมณ์ด้านบวกของผู้ชมก็จะพรั่งพรูออกมา ซึ่งอาจเป็นเพียงความบันเทิงทางใจ หรือเกิดเป็นการเปิดประตูบานใหม่ทางสติปัญญา จากการเรียนรู้จากบทเรียนของเรื่องเล่านั้นๆ ก็ได้

 

Kaitlin เสริมว่ามนุษย์จดจำเรื่องราวได้ดีกว่าข้อมูล และข้อมูลที่ถูกร้อยเรียงผ่านเรื่องราว ก็จะถูกจดจำได้ดีกว่า ดังคำพูดของนักเขียนชาวอเมริกันที่ว่า “ผู้คนจะหลงลืมข้อเท็จจริง แต่พวกเราจดจำเรื่องราว” นอกจากนี้ การเล่าเรื่องด้วยภาพ ยิ่งทวีคูณพลังของการเล่าเรื่องขึ้นไปอีก ดังสถิติที่ว่า

 

  • สมองของเราประมวลผลภาพได้เร็วกว่าข้อมูล 60,000 เท่า
     
  • 90% ของข้อมูลที่ส่งมายังสมองคือภาพ
     
  • 70% ของตัวรับสัมผัส (Sensory Receptors) ของทั้งร่างกาย อยู่ที่ดวงตาของเรา
     
  • 50% ของสมองของเรา ทำงานเพื่อประมวลผลภาพ
     

 



Anand Varma ช่างภาพระดับพระกาฬของ National Geographic ขยายถึงความสำคัญของการเล่าเรื่องว่า หากเราเล่าเรื่องได้เก่งมากพอ จะก่อให้เกิดเป็นอำนาจ อำนาจที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของผู้ชม สิ่งที่เราจะได้จากผู้ชมคือ ‘ความสนใจ’ เมื่อเราได้ความสนใจจากผู้ชม เมื่อผู้ชมฟังเสียงของเราแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อ?

เราอาจใช้มันขับเคลื่อนสิ่งดีในสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกก็ได้ หรืออาจจะใช้มันในการปลุกปั่น ทำให้คนเกลียดกัน ก่อให้เกิดความรุนแรงก็ได้เช่นกัน เราจึงใช้พลังที่เราฝึกฝนจนชำนาญนี้ ทำสิ่งที่ให้คุณมากกว่าให้โทษแก่ผู้ชม และสังคม

 

การเริ่มต้นการฝึกเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ หรือช่องทางไหน ก็ทำได้ง่ายๆ โดยอาศัยเรื่องมือที่มี เช่น กล้องมือถือ บอกเล่าสิ่งรอบตัวที่เราเห็น แต่คนอื่นไม่เห็น หรือไม่ทันได้หยุดสังเกต โดยตัวเขาเองยึดหลักที่ว่า ‘ล้มบ่อยๆ แต่ล้มเงียบๆ ดีกว่าล้มน้อยๆ แต่ล้มแรงๆ’ หมายถึง การฝึกเล่าเรื่อง เช่น ถ่ายภาพ ในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ เรียนรู้ สะสมประสบการณ์ ถูกบ้าง ผิดบ้าง จนเมื่อเชื่อมือตัวเองแล้ว จึงค่อยสื่อสารออกไปให้สาธารณชนได้รับรู้

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT