ข่าวเศรษฐกิจ

ผลงานนายกฯ ‘เศรษฐา’ เดินสาย 14 ปท.60บริษัทดึงเงินเข้ากว่า 5.58 แสนล้าน

26 มี.ค. 67
ผลงานนายกฯ ‘เศรษฐา’ เดินสาย 14 ปท.60บริษัทดึงเงินเข้ากว่า 5.58 แสนล้าน

จากกรณีการเป็นเซลล์แมนของนายกรัฐมนตรีของไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ภายหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเต็มตัว ก็เดินสายเยือนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเดินทางเยือนใน 14 ประเทศ ได้พบนักลงทุนแล้วกว่า 60 บริษัท 

ทั้งนี้ เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย และคาดว่าจะสามารถดึงดูดภาคเอกชนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาใน 4 อุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์, อุตสาหกรรมดิจิทัล และสำนักงานภูมิภาคและโลจิสติกส์ และคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 558,000 ล้านบาท

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานผู้แทนการค้าไทย และ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แถลงถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการลงทุนและความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างชาติ 

ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางเยือนต่างประเทศ โดยมีพันธกิจสำคัญในการนำเสนอวิสัยทัศน์ เจรจาด้านความร่วมมือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ และเข้าร่วมเวทีสำคัญระดับโลก ที่นอกเหนือจากการประชุมตามวาระงานแล้ว 

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า นายกฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้เข้าพบภาคธุรกิจต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ชักชวนการลงทุน และกระชับความร่วมมือกับประเทศไทย ทั้งการพบปะผู้บริหารระดับสูง การนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อสมาคมธุรกิจและหอการค้าชั้นนำ ตลอดจนจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลและบีโอไอได้กำหนดยุทธศาสตร์เน้นหนักในการดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ Data Center และ Cloud Service รวมถึงกิจการสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ 

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นอนาคตที่สำคัญของโลก รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงดำเนินมาตรการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่เข้ามาลงทุน และสนับสนุนผู้ผลิตรายเดิมให้สามารถปรับตัวได้

สรุป : ผลจากการดำเนินงาน ทำให้บริษัทผู้ผลิตจากจีนหลายรายในระดับท็อป 10 ของโลก เช่น BYD, Aion, Changan, GWM, MG เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก และจากการเจรจาครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้วที่กรุงโตเกียว ทำให้ 4 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำ มีแผนการขยายการลงทุนรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี 

สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการรักษาธุรกิจ ICE ในปัจจุบัน ในขณะที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจากับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีมาตรการสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ชั้นนำของโลก คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างน้อย 2 รายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

    2. อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมา ถือว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาลงทุนในประเทศไทย 

ดังนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศ ด้วยการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่น การผลิตชิปต้นน้ำ การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับจ้างผลิตและทดสอบชิปขั้นสูง เข้ามายังประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูง สร้างงานทักษะสูงในประเทศ 

โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างเจรจากับบริษัทระดับโลกหลายราย พร้อมพัฒนาบุคลากรไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้

    3. อุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน Data Center และ Cloud Services ซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรม AI คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ให้บริการระดับ Hyperscale เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2 ราย ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องหลายแสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคได้

   4. การดึงดูดบริษัทชั้นนำให้ตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและศูนย์กลางการเงิน และโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้ 

โดยในปีที่ผ่านมา มีบริษัทต่างชาติรายใหญ่หลายรายเลือกไทยในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค ส่งผลให้มีแรงงานทักษะสูงระดับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย

นอกจากนั้น รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นในการจูงใจให้ภาคเอกชนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทผู้มีฐานการผลิตในไทยและอาเซียน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ดิจิทัล การเงิน โลจิสติกส์ ไปจนถึงธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในหลาย ๆ ด้าน 

โดยนอกเหนือจากปัจจัยด้านธุรกิจ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ ต้นทุนทางธุรกิจที่เหมาะสมแล้ว ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตสำหรับกลุ่มคนทำงานด้วย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบรักษาพยาบาล โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น โดยในปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5 ราย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI ยังเปิดเผยว่า BOI คาดจะมีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามา จากการที่เดินสายโรดโชว์ ประกอบกับมีมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล ใน 4 อุตสาหกรรมหลัก รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ฟรีวีซ่า ซึ่งได้มีการเจรจาและเกิดขึ้นแล้วกับจีน คาซัคสถาน และอินเดีย และอีกหลายประเทศที่กำลังดำเนินการ 

ความร่วมมือในการพัฒนาบุคคลากร การเปิดช่องทางการค้าใหม่ ๆ เพิ่มความสัมพันธ์ในการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA และการผลักดันด้านความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน 

อย่างไรก็ตาม จากผลการเดินสายเป็นเซลล์แมนของนายกฯ เศรษฐา ข้างต้นนั้น เชื่อว่า ประชาชนไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาล องค์กร และบริษัทชั้นนำของโลก ผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

พร้อมจะยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาทักษะและศักยภาพของแรงงานให้สูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเวทีโลก ในแง่ของการเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชีย และท้ายที่สุดแล้วประชาชนคนไทยจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการในอนาคต

ดังนั้น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน คาดว่าจะส่งผลดีต่อประชาชนไทยในระยะยาว

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT