ทุกวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปีคือวันครบกำหนดชำระเงินคืนของผู้กู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่ปีนี้โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยเสียงจาก “ลูกหนี้” ที่พบว่ายอดหนี้ในแอป กยศ. Connect ไม่ตรงกับที่เคยเห็น บางคนมี “ยอดหนี้เพิ่ม” ขึ้นมาเอง ทั้งที่ยืนยันว่าจ่ายตรงและจ่ายครบมาโดยตลอด
ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความสับสน แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะทางการเงินของลูกหนี้จำนวนมาก ผู้กู้หลายคนบอกตรงกันว่า “ยอดหนี้เพิ่มขึ้น” โดยไม่ทราบสาเหตุ บางคนยืนยันว่าจ่ายครบทุกงวด ไม่เคยค้าง แต่กลับพบว่าหนี้ที่ใกล้หมดกลับพุ่งขึ้น บางคนที่เคยปิดบัญชีจนเหลือศูนย์บาท กลับเห็นยอดใหม่โผล่มาอีกหมื่นกว่าบาท
ต้นตอปัญหา อยู่ที่การเปลี่ยนระบบ
กยศ. ชี้แจงว่าสาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบตัดหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งกำหนดลำดับการตัดหนี้ใหม่ ตามลำดับดังนี้
1.เงินต้นที่ถึงกำหนดชำระ
2.ดอกเบี้ย
3.เบี้ยปรับ
แต่ช่วงรอยต่อของกฎหมาย กยศ. ยังไม่พร้อมใช้ระบบใหม่เต็มรูปแบบ จึงใช้วิธี "ตัดหนี้ชั่วคราว" โดยหักเฉพาะเงินต้น 100% ก่อน ทำให้ยอดหนี้จริงที่ค้างอยู่ ไม่ถูกแสดงออกมาชัดเจน พอระบบใหม่เริ่มคำนวณย้อนหลัง จึงทำให้ "ยอดหนี้" ที่ปรากฏสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับยังคงค้างอยู่
ปัจจุบัน กยศ. ได้พัฒนาระบบให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ และได้มีการคำนวณยอดหนี้ย้อนหลัง (Recalculated) ไปถึงวันแรกที่ผู้กู้เริ่มชำระหนี้ โดยยอดหนี้ที่แสดงในแอปฯ กยศ. Connect ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2568 จะได้รับการปรับปรุงและแสดงยอดที่ถูกต้องภายในเดือนกรกฎาคม 2568
ปัญหาใหม่ ระบบหักเงินผิดพลาด
ยังไม่ทันที่ปัญหาเรื่องยอดหนี้ปริศนาจะคลี่คลาย ล่าสุดช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ลูกหนี้ กยศ. หลายรายกลับพบปัญหาใหม่ที่สร้างความกังวลไม่แพ้กัน นั่นคือการ “หักเงิน” จากบัญชีเงินฝากแบบอัตโนมัติ (Auto debit) แม้ว่าบางคนจะชำระหนี้ครบถ้วนหรือจ่ายเกินยอดที่กำหนดไว้ล่วงหน้าไปแล้วก็ตาม
กยศ. ชี้แจงว่าปัญหาการหักเงินอัตโนมัติที่คลาดเคลื่อน เกิดจากความผิดพลาดของระบบการคำนวณหนี้ใหม่ โดยเฉพาะกับผู้กู้ยืมที่ กยศ. คำนวณหนี้ใหม่แล้วยังมียอดหนี้ค้างชำระ ระบบได้ดำเนินการหักเงินตามยอดหนี้ที่คำนวณผิดพลาดนั้น ส่งผลให้เกิดการ “หักเงินซ้ำซ้อน” ในบางราย หรือ “หักเงินเกินยอด” ที่ต้องชำระไป
กยศ. พร้อมคืนเงิน-ค่าธรรมเนียม
กยศ. ยอมรับในความผิดพลาดของระบบดังกล่าว โดยระบุว่าได้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยมีแนวทาง ดังนี้
• คืนเงินที่หักเกินให้กับผู้กู้โดยอัตโนมัติ
• คืนค่าธรรมเนียมการโอนเงินกลับเข้าบัญชีเดิม
• ดำเนินการคืนเงินภายใน 3 วันทำการ หลังจากตรวจสอบข้อมูลกับผู้พัฒนาระบบแล้ว
• เพิ่มเครื่องมือและมาตรการตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต
สำหรับลูกหนี้จำนวนไม่น้อย ความกังวลและความเสียหายที่เกิดขึ้นดูจะมาไม่ทันกับการแก้ไขปัญหาของ กยศ. เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ระบบจัดการผิดพลาดส่งผลกระทบต่อผู้กู้ แต่เป็นปัญหาที่ยังไม่เคยถูกแก้จริงจัง
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ไม่เพียงสร้างความสับสนและผลกระทบทางการเงิน แต่ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นในองค์กร การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ กยศ. ต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง
Advertisement