เรื่องของ “มรดก” มักเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนภายในครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อเจ้าของทรัพย์สินถึงแก่กรรมแล้ว การจัดสรรมรดกจึงมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทในภายหลัง กลไกสำคัญในการจัดการมรดกนั้นประกอบด้วย "ทายาทมรดก" "คู่สมรส" และ "พินัยกรรม" ซึ่งแต่ละส่วนล้วนมีบทบาทและสิทธิที่แตกต่างกันไป
ทายาทโดยธรรมคือใคร?
ทายาทโดยธรรม คือ บุคคลที่มีสิทธิตามกฎหมายในการรับมรดกของผู้ที่เสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ กฎหมายกำหนดลำดับความสำคัญของทายาทโดยธรรมไว้ 6 ลำดับ พร้อมทั้งคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน
ทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ
เมื่อบุคคลใดเสียชีวิตลงโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ กฎหมายจะกำหนดผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามลำดับชั้นที่เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" ซึ่งมีทั้งหมด 6 ลำดับ ดังนี้
ลำดับที่ 1: ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม โดยทายาทในลำดับนี้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนทายาทในลำดับอื่น
ลำดับที่ 2: บิดามารดา ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดาน บิดามารดาของผู้ตายจึงมีสิทธิได้รับมรดก
ลำดับที่ 3: พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หากผู้ตายไม่มีทั้งผู้สืบสันดานและบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตายจึงมีสิทธิได้รับมรดก
ลำดับที่ 4: พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีทายาทใน 3 ลำดับแรก พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันของผู้ตายจึงมีสิทธิได้รับมรดก
ลำดับที่ 5: ปู่ย่าตายาย หากผู้ตายไม่มีทายาทใน 4 ลำดับแรก ปู่ย่าตายายของผู้ตายจึงมีสิทธิได้รับมรดก
ลำดับที่ 6: ลุงป้าน้าอา ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีทายาทใน 5 ลำดับแรก ลุงป้าน้าอาของผู้ตายจึงมีสิทธิได้รับมรดก
คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับเจ้ามรดกแล้ว ยังมี “คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งถือเป็นทายาทโดยธรรมอีกประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีสถานะเป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายจึงได้รับสิทธิในการรับมรดกร่วมกับทายาทลำดับอื่นเช่นกัน
“คู่สมรส” จึงนับเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย และมีสถานะ “ทายาทโดยธรรม” โดยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกแตกต่างกันไปตามแต่ว่ามีทายาทโดยธรรมในลำดับใดอยู่ด้วย
พินัยกรรมเครื่องมือจัดการมรดกตามเจตนา
หากผู้เสียชีวิตได้ทำ ‘พินัยกรรม” ทรัพย์สินจะถูกแบ่งตามความประสงค์ที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด พินัยกรรมจึงเป็นเครื่องมือที่มีพลังทางกฎหมายสูงสุดในการจัดการมรดก ซึ่งสามารถลดปัญหาขัดแย้งระหว่างทายาท และทำให้เจตนารมณ์ของผู้ตายได้รับการเคารพอย่างถูกต้อง
พินัยกรรม คือ เอกสารที่เจ้าของทรัพย์สินจัดทำไว้ล่วงหน้าเพื่อแสดงเจตนาว่า ต้องการแบ่งทรัพย์สินให้แก่ใคร อย่างไร เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ถ้าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนเสียชีวิต การจัดสรรทรัพย์มรดกจะยึดตามความประสงค์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมนั้นเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งตามลำดับทายาทโดยธรรมอีกต่อไป
พินัยกรรมที่กฏหมายไทยรับรองมีอยู่ 5 รูปแบบ
1.พินัยกรรมแบบธรรมดา
2.พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
3.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
4.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ
5.พินัยกรรมทำด้วยวาจา
ผู้รับพินัยกรรม คือ บุคคลที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ โดยอาจเป็นญาติพี่น้อง หรือบุคคลภายนอกก็ได้ และอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลก็ได้ ทั้งนี้ “ผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิได้รับมรดกก่อนทายาทโดยธรรมเสมอ”
เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้รับพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย ในทางตรงกันข้ามหากพินัยกรรมยกทรัพย์สินเพียงบางส่วน ทายาทโดยธรรมจะได้รับมรดกในส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ตามหากพินัยกรรมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เช่น ขาดการลงลายมือชื่อ ผู้รับพินัยกรรมจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้น
Advertisement