ส่ง "5 ทรชน จ.สระแก้ว" มือฆ่า "ป้าบัวผัน" ไปสถานพินิจฯ จ.สระแก้ว หวั่นสุมหัวพฤติกรรมเบี่ยงเบน ขณะที่ "พนักงานคุมประพฤติ" ลงพื้นที่สืบข้อมูลส่วนตัว-การศึกษา-พฤติกรรมคดี กับญาติและครอบครัวของเด็กทั้ง 5 ราย ก่อนประมวลจัดทำรายงานเสนอศาลเยาวชนฯ
จากกรณีความไม่ชอบมาพากลในคดี “ป้าบัวผัน” ที่ถูก 5 วัยรุ่นทรชนรุมทำร้ายร่างกาย ก่อนร่วมกันอุ้มไปฆ่ากดน้ำ เหตุเกิดในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยประเด็นที่สำคัญก็คือ ก่อนหน้านี้ “ลุงเปี๊ยก” สามีของป้า กลับยอมรับสารภาพว่าเป็นคนทำร้ายภรรยาตัวเอง ทั้งยังมีการคุมตัวไปสอบสวนทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และฝากขังตามกฎหมาย ก่อนจะถูกปล่อยตัว ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่าเป็นการ “จับแพะ” หรือไม่ เนื่องจากหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่น เป็น “ลูกตำรวจ” จนทำให้เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ต้องลงพื้นที่สางคดีด้วยตนเอง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
โดยวันที่ 17 ม.ค. 67 ที่ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และในฐานะโฆษก กล่าวว่า ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสถิติเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดส่วนใหญ่ เกิดจากครอบครัวแตกแยกกว่า 70% ส่วนอีก 30% ก็ไม่ใช่ครอบครัวที่อบอุ่น หรือครอบครัวได้ดูแลเด็กอย่างเหมาะสม และในตอนนี้เด็กทั้ง 5 ราย อยู่ในความดูแลของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสระแก้ว โดยจะมีการตรวจคัดกรองโควิด-19 จากนั้นจะมีการประเมินสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยาและสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการรับตัว ต่อมาจึงจะมีการพิจารณาจำแนกเด็กแต่ละคนว่าจะต้องอยู่ในกลุ่มไหนอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เราจะไม่ให้เด็กที่มาจากมูลฐานความผิดเดียวกัน อยู่ด้วยกันเหมือนเก่า เพื่อป้องกันการรวมตัวกันในทางที่เบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ พนักงานคุมประพฤติของกรมพินิจฯ จะออกไปสืบแสวงหาข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการศึกษา การประกอบอาชีพจากพยานบุคคล อาทิ ญาติ และครอบครัวของเด็ก รวมถึงพฤติการณ์เกี่ยวกับคดี เพื่อจัดทำรายงานข้อมูลสำหรับนำเสนอต่อศาลสำหรับใช้ในการพิจารณาต่อไป ซึ่งกระบวนการจะมีขั้นตอนคล้ายกับกรณีเด็กชาย 14 นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเด็กเป็นผู้กระทำ ตนมองว่าครอบครัวและชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพขึ้นมา ครอบครัวต้องสอดส่องพฤติกรรมของเด็กที่ไม่เหมาะสม ใส่ใจดูแลการเลี้ยงดูบุตร และอย่าปล่อยให้เลยเถิดไปถึงการก่ออาชญากรรม
นายโกมล ระบุอีกว่า ส่วนประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การเตรียมขอเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีการแก้ไขอายุการรับโทษทางอาญาของเด็ก โดยกำหนดอายุให้ต่ำลงนั้น เดิมทีแรกเด็กที่กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ต้องมีอายุตั้งแต่ 10-18 ปี และเมื่อวันที่ 8 พ.ค.65 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.เพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับ 29 พ.ศ. 2565 แก้ไขเด็กจากอายุ 10 ปี เป็นอายุ 12 ปี ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับใช้ หากจะมีการขอแก้ไข จะต้องมีการประเมินผลกฎหมายจากการบังคับใช้ไปสักระยะหนึ่งก่อน เพราะจากการศึกษาทางการแพทย์ พบว่าเด็กอายุ 7-12 ปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับชั้นประถมศึกษา ยังไม่มีพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา การคิดวิเคราะห์แยกแยะ ไม่สามารถแยกความถูกต้องหรือความผิด หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง นำไปสู่การกระทำความผิด ดังนั้น กรมพินิจฯ จึงต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี หากกระทำผิดก็จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขฟื้นฟู ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
นายโกมล กล่าวด้วยว่า ตามการปฏิบัติแล้ว กรมพินิจฯ ให้การดูแลเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 12-18 ปี และหากศาลมีคำสั่งให้อยู่ต่อในสถานควบคุม ก็ขยายการอยู่ต่อได้ถึงอายุ 24 ปี และที่ผ่านมาจะพบว่าคดีความเกี่ยวกับเด็ก มีการร้องเรียนถึงการแสดงออกในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ การชุมนุมทางการเมือง คดีอาญามาตรา 112 คดีความมั่นคง ซึ่งทางกรมฯ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ โดยขณะนี้มีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานพินิจฯ จำนวน 2 ราย แบ่งเป็น 1 ราย ระยะเวลาควบคุมตัว 1 ปี ส่วนอีก 1 ราย มีระยะเวลาควบคุมตัว 6 เดือน ซึ่งเด็กทั้งสองรายต่างได้รับการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัย รวมถึงได้รับการพัฒนาด้านการฝึกวิชาชีพ และการเรียนสายสามัญ ซึ่งเด็กที่มีห้วงเวลา 6 เดือน จะได้รับการปล่อยตัวในเดือน มี.ค.นี้
นายโกมล กล่าวอีกว่า สำหรับกรมพินิจฯ การดูแลเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะมองว่าเป็นนโยบายหลักในการสร้างอนาคตของชาติ เด็กและเยาวชนก็เป็นกำลังหลัก ดังนั้น เมื่อผิดพลาดหรือก้าวพลาด และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทางเราก็จะดูแลและคุ้มครอง เปลี่ยนแปลงพฤตินิสัย และทำให้มีอนาคต รวมถึงให้เด็กรู้จักเรียนวิชาชีวิตที่เป็นวิชาที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ขาดความรู้และประสบการณ์
Advertisement