ไทย พบ "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก ตัวที่ 13 ของไทย อายุ 150 ล้านปี ที่ ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
วันที่ 26 ก.ค.66 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) แถลงข่าว ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) โดยมีนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ โฆษก ทส.เป็นประธานแถลงข่าว นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีทธ.รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก มีชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) พบในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี
ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบในไทยตัวนี้ เป็นไดโนเสาร์ “ออร์นิธิสเชียน” หรือไดโนเสาร์กินพืชแบบสะโพกนก โดยซากดึกดำบรรพ์ที่พบนั้น ประกอบด้วยกระดูกลำตัว ขา และหาง บ่งชี้ว่า มันมีขนาดเล็กราว 60 เซนติเมตร ขณะที่ ซากของไดโนเสาร์สายพันธุ์เดียวกัน แต่คนละตัว ชี้ว่า เมื่อโตเต็มวัย มันจะมีขนาดยาวถึง 2 เมตร
นางอรนุช กล่าวถึงการดำเนินงานของทธ.ภายใต้ การดำเนินงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ด้านการสำรวจวิจัยซากดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะ การดำเนินงานร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในด้านการสำรวจขุดค้น ศึกษา วิจัยซากดึกดำบรรพ์ในพื้นที่แหล่งขุดค้นภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์มาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปี”
“ความน่าสนใจของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ บนพื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตร นักวิจัยได้ค้นพบความสมบูรณ์ของตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” เป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดตัวหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีการพบร่วมกับซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลากหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น ทั้งปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด และไม้กลายเป็นหิน รวมทั้งไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์กินพืช-กินเนื้อ ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 8 สายพันธุ์ ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีการพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อธิบดีทธ. กล่าว
ด้าน รศ.มงคล กล่าวว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยแห่งนี้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีศักยภาพสูง ก่อนหน้านี้มีการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 7 ชนิดที่ตีพิมพ์ในบทความทางวิชาการในวารสารระดับนานาชาติร่วมกับ ทธ. และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นชนิดที่ 8 จากแหล่งภูน้อย อีกทั้งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวแรกในพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์
การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของประเทศไทยนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ภูน้อยเอนซิส” ซึ่งหมายถึง “นักวิ่งขนาดเล็กจากแหล่งภูน้อย” บ่งชี้ถึงซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ (โฮโลไทป์) ซึ่งใช้เวลาอนุรักษ์ตัวอย่างนานมากกว่า 5 ปี และมีความพิเศษอย่างมาก
Advertisement