กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สำนักงานเขตที่ติดแม่น้ำ เร่งเสริมแนวกระสอบทรายจุดฟันหลอ
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้เตรียมการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมหารือเพื่อประสานข้อมูลร่วมกับกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และเป็นแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อลดผลกระทบและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงน้ำท่วม จัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบความแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวป้องกันน้ำท่วมความยาวประมาณ 87.93 กม. เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของกรุงเทพมหานครความยาวประมาณ 79.63 กม. ซึ่งมีระดับความสูงของคันกั้นน้ำอยู่ที่ระดับ+2.80 ม.รทก.ถึง+3.50 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือหลากที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครได้ที่ปริมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนของแนวป้องกันตนเองของหน่วยงานราชการอื่นและของเอกชนความยาวประมาณ 8.30 กม. ได้ดำเนินการเรียงกระสอบทรายเพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมเจ้าท่า ตรวจสอบและกำชับใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบบ้านเรือนของประชาชน
ขณะเดียวกันสำนักงานเขตที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาได้สั่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำทะลัก เร่งเสริมแนวกระสอบทรายจุดฟันหลอ เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน ดังนี้
เขตพระนคร มีพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง ที่ต้องดำเนินการเสริมกระสอบทราย จำนวน 3 จุด คือ ท่าเรือเทเวศร์ ชุมชนท่าวัง และชุมชนท่าเตียน ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
เขตดุสิต มีพื้นที่จุดเฝ้าระวัง จำนวน 5 จุด คือ ชุมชนวัดเทวราชกุญชร ชุมชนมิตตคาม บ้านญวน (สามเสน 13) ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ ชุมชนสีคาม และท่าเขียวไข่กา โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวเป็นประจำ
เขตสัมพันธวงศ์ อยู่ระหว่างดำเนินการสร้างแนวเขื่อนแบบถาวรบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในส่วนที่เป็นแนวฟันหลอ ได้จัดเรียงกระสอบทรายเป็นแนวกันน้ำ หรือเป็นแนวให้น้ำไหลเข้าบ่อพักระบายน้ำ ส่วนท่าเรือในพื้นที่ ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือเผยอิง และท่าเรือสี่พระยา ได้จัดทำทางเดินสำหรับทางขึ้นลงท่าเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
เขตบางคอแหลม เตรียมความพร้อมของหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) พร้อมช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วมหรือน้ำหนุนจากแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำที่ยังไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร โดยเสริมคันกั้นน้ำชั่วคราว
เขตยานนาวา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณชุมชนโรงสี (พระรามที่ 3 ซอย 64) หากระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง น้ำไหลเข้าท่วมภายในชุมชน จะเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายออกจากพื้นที่
เขตคลองสาน เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องสูบน้ำ ซึ่งมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 2 จุด ได้แก่ จุดเสี่ยงน้ำท่วมโรงเกลือแหลมทอง และท่าเรือท่าดินแดง รวมถึงเฝ้าระวังชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ จำนวน 2 จุด คือ จุดที่ 1 ท้ายซอยเจริญนคร 29/2 จุดที่ 2 หลังตึกขาว (ท้ายซอยสมเด็จเจ้าพระยา 5) เขต
เขตบางกอกน้อย จัดเตรียมกระสอบทราย หากกรณีมีเหตุฉุกเฉินเขื่อนมีรอยรั่ว พร้อมทั้งประสานกองทัพเรือ เพื่อเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน
ด้านสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา และสำนักงานเขต ได้จัดเตรียมยานพาหนะ เพื่อให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ รวมถึงติดขัดการเดินทางอยู่บนท้องถนนเมื่อเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะในถนนเส้นหลักและซอยย่อยต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการเดินทางและสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน
Advertisement