“ผู้ว่าฯ จ.สุรินทร์” ยัน ไม่ใช่การประกาศภัยพิบัติสงคราม แต่เป็นภัยพิบัติฉุกเฉิน จากกองกำลังจากนอกประเทศ หวัง ผลเจรจาจบโดยเร็ว
กรณีที่มีประกาศด่วนที่สุดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ประกาศให้จังหวัดสุรินทร์เป็นภัยสงครามเป็นจังหวัดแรก พร้อมยกระดับเทียบเท่าประกาศภัยพิบัติ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว เพื่อให้ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปะทะชายแดนไทย-กัมพูชาได้อย่างใกล้ชิดนั้น
ล่าสุด วันที่ 28 ก.ค.68 เวลา 11.00 น. นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าว ว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่คำว่า “ภัยพิบัติสงคราม” แต่เป็นการประกาศเขตผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (กองกำลังจากนอกประเทศ) โดยย้ำชัดว่า “ไม่ใช่สงคราม” ก่อนจะขยายความว่า การประกาศภัยพิบัติฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อ ความสะดวกต่อการใช้งบประมาณแผ่นดิน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2562 ซึ่งหากจะประกาศยกระดับเป็นภัยสงคราม จะต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาฯ มีมติเห็นชอบ 2 ใน 3 ของสภา และใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการประกาศสงคราม
ผู้ว่าฯ จ.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า การใช้งบประมาณสำหรับการประกาศภัยฉุกเฉินดังกล่าว รัฐบาลมีมติอนุมัติงบฉุกเฉิน 100 ล้านบาท และมีงบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเราใช้ไปแล้ว 3 วันแรก จากนั้น จังหวัดได้จัดสรรงบให้แต่ละอำเภอดูแลประชาชน
ผู้ว่าฯ จ.สุรินทร์ กล่าวถึงภาพรวมในจังหวัด ว่า ขณะนี้ยังมีการยิงสู้รบกันตามแนวชายแดน ในอำเภอกาบเชิง และยังไม่มีรายงานการสูญเสียแต่อย่างใด
เมื่อถามถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเจรจากับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีความคาดหวังต่อการเจรจาในครั้งนี้อย่างไร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ขอตอบแทนพี่น้องประชาชนว่า เนื่องจากเมื่อวานนี้ (27ก.ค.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
ซึ่งพี่น้องประชาชนก็ได้สื่อสารว่าอยากให้เหตุการณ์จบโดยเร็ว ส่วนตนเองก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากพี่น้องประชาชน การมาอยู่ศูนย์พักพิง คงไม่สะดวกเท่าการอยู่บ้าน เป็นห่วงบ้าน ทรัพย์สิน นอนไม่ค่อยหลับ และก็อยากให้จบเร็ว ก่อนจะเล่าย้อนข้อมูลเหตุปะทะชายแดนเมื่อปี 2554 ซึ่งปีนั้นใช้เวลาปะทะ 12 วัน แต่ไม่ใช่ 12 วันแล้วอพยพกลับทันที ต้องรอให้จบอย่างแน่นอนก่อน
และครั้งนี้อยากให้จบเร็วกว่า 12 วัน และการปะทะกันเมื่อปี 54 ก็ไม่รุนแรง และยิงกันตลอดทั้งวันทั้งคืนเหมือนปีนี้ พร้อมย้ำว่า อยากให้เข้าสู่การเจรจา และจบให้เร็ว และหวังว่าไม่อยากให้เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งหากเกินก็จะต้องขอเงินจากรัฐบาลเพิ่ม และเราไม่ได้ดูแค่ผู้อพยพ ยังดูถึงผู้นำชุมชน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่อยู่ดูแลทรัพย์สินในหมู่บ้านด้วย
Advertisement