วันนี้ (27 กรกฎาคม 2568) เวลา 12.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) แถลงข่าวประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาประจำวันที่ 27 ก.ค. 2568 โดย พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษก ศบ.ทก.ด้านความมั่นคง และนางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
โดยพล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า ในประเด็นด้านความมั่นคงจากประเด็นที่ปรากฏเป็นข่าวในเรื่องการเรียกร้องของบางประเทศให้ไทยและกัมพูชาหยุดยิง ฝ่ายไทยนั้นเห็นด้วยในหลักการดังกล่าวแต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายกัมพูชาแสดงความจริงใจและเข้าร่วมหารือ รวมถึงการหยุดยิงให้เป็นที่ประจักษ์
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชายังคงส่งกำลังทหารเข้าประทะบริเวณใกล้เคียงเขาพระวิหารในเวลาตี 02.10 น. และยิงจรวด BM-21 ในเวลา 06.10 น. เข้ามายังฝ่ายไทยและตกมาที่บริเวณบ้านตาโส หมู่ 10 ตำบลบ้านพลวง ตำบลปราสาท จังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นเป้าหมายของพลเรือนทำให้บ้านของพลเรือนเสียหาย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมาในเวลา 15:30 น. กระสุนปืนใหญ่ของกัมพูชาได้พุ่งเป้าใส่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและบุรีรัมย์ รวมทั้งใช้ประชาชนเป็นโล่กำบังในการตั้งอาวุธยิงถือว่าเป็นการใช้ประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างไร้หลักมนุษยธรรมในเรื่องของความเป็นมนุษย์ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาเจนีวาอย่างชัดเจน
" เราขอประณามไปถึงความไม่จริงใจของฝ่ายกัมพูชาในการพูดคุยเนื่องจากฝ่ายกัมพูชาได้ปฏิเสธจะเลื่อนการพูดคุยเจรจาในเวทีทวิภาคีอยู่หลายครั้งไม่ว่าจะเป็น JVC GBC หรือ RBC เพราะฝ่ายไทยมองว่าการประชุมต่าง ๆ สามารถนำประเด็นที่เป็นปัญหาที่มีข้อขัดแย้งระหว่างกันมาพูดคุยหารือในเวทีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ "
พล.ร.ต.สุรสันต์ ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าฝ่ายกัมพูชามีการเสริมกำลังทางทหารมีการเตรียมที่มั่นดัดแปลงตามบริเวณชายแดนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ละเมิดอนุสัญญาออตตาวา และแสดงท่าทียั่วยุส่งเสริมการปลุกระดมคนกัมพูชา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เขาสู่พื้นที่ความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดนโดยใช้กระแสชาตินิยมปลุกปั่น หวังยกระดับให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ ตลอดจนการแสดงออกท่าทีถึงความพร้อมการใช้กำลังทหารผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกล่าวหาประเทศไทยอย่างไร้หลักฐาน นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันในเวลาต่อมา
ส่วนสถานการณ์ที่ผ่านมาเรื่องนี้ผู้แทนเหล่าทัพจะเป็นผู้พูดถึงรายละเอียดต่อไป แต่สั้น ๆ คือฝ่ายกัมพูชายังคงใช้อาวุธหนัก ทั้งปืนใหญ่ ปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้ง จรวดหลายลำกล้อง BM-21 รวมทั้งปรากฏข่าวสารความเคลื่อนไหว เพราะอาจมีการใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพ เช่น PHL-03 , RM-70 รวมถึง BM-21 เพิ่มเติม
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในวันนี้นับตั้งแต่ 09.00 น. ปรากฏสถิติผู้เสียชีวิตโดยเป็นพลเรือนพบว่าทั้งหมด 13 ราย บาดเจ็บสาหัสเพิ่ม 1 รายเป็นจำนวน 11 ราย บาดเจ็บปานกลาง 12 รายบาดเจ็บเล็กน้อย 13 รายรวมแล้ว 49 ราย แม้ตัวเลขจะไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็ต้องชื่นชมหน่วยงานในพื้นที่ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขที่ช่วยประชาชนอพยพออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน
งงลบ" สุดท้ายขอเน้นย้ำถึงปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาล้วน ๆ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากประชาชนผู้บริสุทธิ์ของทั้ง 2 ประเทศ จึงขอวิงวอนให้ชาวไทยหลีกเลี่ยงการแสดงความรุนแรงโดยการใช้ถ้อยคำหรือการใช้กำลัง การดูหมิ่นเหยียดหยามพี่น้องชาวกัมพูชาที่ทำงานหรือพักอยู่ในไทยอย่างสุจริต เว้นแต่ในกรณีที่ชาวกัมพูชาแสดงกิริยาก้าวร้าว ก็ขอให้ใช้สติและเหตุผลในการพูดจาตักเตือนโดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงหากเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการดำเนินการกฏด้านกฎหมายต่อไป " พล.ร.ต.สุรสันต์กล่าว
ด้านนางมาระตี กล่าวว่า ในด้านการต่างประเทศมี 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่ง. สหประชาชาติ(UNSC)แบบปิด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อหารือสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาโดยมี 15 รัฐสมาชิก รวมถึงไทยและกัมพูชารวมอยู่ด้วย การประชุมดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญให้ฝ่ายไทยได้ย้ำจุดยืนต่อประชาคมโลกด้วยหลักฐานที่หนักแน่นและข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายริเริ่มและเปิดฉากยิงก่อน โดยโจมตีเป้าหมายพลเรือนไทยทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และต้องอพยพหลักแสนคน อีกทั้งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง
การหารือของประเทศสมาชิก UNSC กล่าวถึงหลักการกว้างๆไปในทิศทางเดียวกัน คือ 1.เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายลดความตึงเครียดและแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี รวมถึงใช้การทูตในการเจรจาทวิภาคี 2. สนับสนุนบทบาทอาเซียน ในการแก้ไขความขัดแย้งตามกฎบัตรอาเซียน และ 3. เน้นย้ำว่าสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชา ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
" ที่สำคัญขอย้ำว่าที่ประชุม UNSC ไม่ได้มีมติ หรือการออกเอกสารผลลัพธ์ใดๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะแสดงว่ารัฐสมาชิกต่าง ๆ ก็มีความเข้าใจในจุดยืนและการดำเนินการของฝ่ายไทย " นางมาระตีกล่าว
สำหรับเรื่องที่ 2 เกี่ยวกับการประณามการโจมตีเป้าหมายพลเรือน เมื่อวานทางกระทรวงต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงต่อการโจมตีพลเรือนโดยฝ่ายกัมพูชา ซึ่งเป็นการกระทำอันไร้มนุษยธรรมและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศคืออนุสัญญาเจนีวา 1949 ข้อ 19 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองหน่วยแพทย์และสถานพยาบาล และข้อ 18 ของอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4 เกี่ยวกับการคุ้มครองโรงพยาบาลฝ่ายพลเรือน
" กระทรวงต่างประเทศ จึงมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ(ICRC) แสดงการประณามอย่างรุนแรง ต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง แล้วจะพบกับสำนักงาน ICRC ที่ประจำประเทศไทย ในวันอังคารนี้เพื่อหารือและชี้แจงเพิ่มเติม กรณีนี้มีความสำคัญที่กระทรวงต่างประเทศจะเดินหน้าในลักษณะนี้เพราะว่าไทยต้องการสื่อสารไปยังประชาคมโลกว่าการกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมต่อเนื่อง ของฝ่ายกัมพูชาเป็นสิ่งที่ประชาคมโลก ว่าการกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมต่อเนื่องของฝ่ายกัมพูชา เป็นสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องร่วมกันประณาม และเมื่อเช้าของวันนี้ กัมพูชายังได้โจมตีสถานที่ต่าง ๆ ของพลเรือนในดินแดนไทยอยู่ " นางมาระตีกล่าว
ทั้งนี้นางมาระตี ระบุว่า ในส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ 2 ฝ่ายหยุดยิงนั้น ขอย้ำว่ากัมพูชาจะต้องแสดงถึงความจริงใจในการหยุดจริงก่อน โดยเฉพาะการโจมตีที่ไม่เลือกเป้าหมายก็ยังคงดำเนินการอยู่ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศยังออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อสื่อต่างประเทศ และประณามกองกำลังกัมพูชาใช้อาวุธร้ายแรงโจมตีบ้านเรือนประชาชนในจังหวัดสุรินทร์เมื่อเช้านี้
พร้อมตอบโต้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวหาว่า ไทยเป็นฝ่ายริเริ่ม
สุดท้ายนี้ทราบว่าสำนักข่าวสื่อต่างประเทศ กำลังเดินทางลงพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา เพื่อรายงานและติดตามสถานการณ์ ขอเรียนว่าทางกรมประชาสัมพันธ์ จะเป็นผู้ประสานหลักร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อที่จะประสานงานและให้ข้อมูลเพื่อการทำงานที่ราบรื่น
Advertisement