เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 ก.ค. 68 ที่กระทรวงกลาโหม นาย ศิริมงคล อินทร์แก้ว นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมตัวแทนนักศึกษารามคำแหง เดินทางมายื่นหนังสือ เกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะรักษาการแทนรมว.กลาโหม ทำงานให้รวดเร็ว ไม่ล่าช้า และไม่ต้องเกรงใจรัฐบาล
โดยช่วงแรกมี พ.อ.ฐาปณา อุไรวรรณ รองหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ออกมารับหนังสือแทน แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมแจ้งว่า พล.อ.ณัฐพล ยินดีลงมาพบตัวแทนนักศึกษาด้วยตัวเอง เมื่อ รมช.กลาโหมมาถึง ได้อนุญาตให้น้องๆ นักศึกษาที่รออยู่ด้านนอกเข้ามาพูดคุยกันในห้อง
พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า ยินดีต้อนรับทุกคน และขออภัยในความไม่สะดวก ส่วนใหญ่จะให้ผู้แทนเข้ามามอบหนังสือ และตนจะไม่ได้ลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง รวมถึงวันนี้ก็มีประธานบริษัทมินิแบร์ของญี่ปุ่นมาพบ เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากทางบริษัทมีโรงงานผลิตสินค้าในประเทศไทย แต่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนในกัมพูชา เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้จึงไม่สามารถส่งชิ้นส่วนจากกัมพูชาเข้ามาในประเทศไทยได้ ทำให้ตอนนี้ทางบริษัทต้องหยุดการผลิตไป ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในโรงงาน จึงอยากเรียนให้ทราบว่า ศบ.ทก. ในการบริหารสถานการณ์ ต้องรักษาสมดุลให้ดี ถ้าแรงไปก็มีกลุ่มที่เดือดร้อน หากอ่อนไปกลุ่มที่เน้นศักดิ์ศรีก็ไม่พอใจ ดังนั้นตนก็มาชั่งน้ำหนักว่าจะทำยังไง ตามหน้างาน หากอีกฝ่ายทำอะไรไม่ดีเราก็ว่ากันไป อะไรที่พอมีเหตุผลรับได้ก็ว่ากันไป
โดยสิ่งที่รับไม่ได้ เช่น การวางทุ่นระเบิดในเขตอธิปไตยของไทย ถือว่าผิดอนุสัญญาออตตาวา โดยศบ.ทก. คำนึงคืออยากรู้ว่าทุ่นระเบิดเป็นของใหม่ หรือ เป็นทุนระเบิดที่เคยวางไว้แล้วนำไปเก็บ แล้วค่อยเอามาวางใหม่ ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างกัน แต่ถือว่ามีความผิดเหมือนกัน โดยถ้าหากว่าเป็นของใหม่แต่ไม่ยอมทำลาย ถือว่าจะเป็นความผิดอีก 1 คดี
ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล ยืนยันว่า รัฐบาลกับกองทัพทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เปรียบเทียบว่าตนก็เหมือนระบบไฮบริดที่เป็นทั้งทหาร และรัฐบาล ย้ำอีกว่าตนไม่มีเกรงใจใครในรัฐบาล บางคนมองว่าเราทำงานภายใต้การชักใย แต่ตอนที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่เคยมาคุยเรื่องนี้กันเลย เรามีอิสระในการทำงาน
ส่วนความวุ่นวายที่ปราสาทตาเมือนธม พล.อ.ณัฐพล เผยว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการปรึกษากับแม่ทัพภาคที่ 2 โดยหารือว่าทหารที่เข้าไปดูแลในพื้นที่ต้องมีฝ่ายละ 7 คนโดยไม่มีอาวุธ ส่วนนักท่องเที่ยวขอให้ขึ้นมากันเป็นกลุ่ม หากมาเป็น 1,000 คน ก็ขอให้ขึ้นมาทีละกลุ่ม แต่ที่เป็นกังวลคือ เกรงว่าจะมีการมายั่วยุ แล้วทหารเกินความอดกลั้น หากมีการใช้อาวุธเกิดขึ้นนั่นคือพลเรือนจะสูญเสีย ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเราจะเป็นรองทันที
ส่วนเรื่องการปิดปราสาทตาเมือนธมนั้น พล.อ.ณัฐพล เปิดเผยว่า การทำอะไรต้องเป็นไปตามกติกาสังคม สมเหตุสมผล เหมาะสม แต่ก็ได้เตรียมการรับมือเอาไว้แล้วว่าต้องทำตามขั้นตอน หากมีการก่อกวนก็ให้ทหารฝ่ายกัมพูชาเชิญตัวออก แต่หากยังไม่ไปยังยั่วยุอยู่จะใช้ทหารพรานหญิงเข้าไปคลี่คลาย แต่ถ้ายังไม่หยุดอีกก็จะใช้กองร้อยปราบจราจลเข้าไป ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการใช้กองร้อยจราจล เราจะขอปิดสถานที่ เพราะถือว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย
สำหรับการใช้กองร้อยปราบจราจลจะนุ่มนวลกว่าการใช้กำลังทหาร เพราะทหารมีอาวุธสงคราม ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเราเสียเปรียบ และเป็นรองทันที แทนที่จะได้เล่นงานเรื่องทุ่นระเบิด แต่เราดันพลาดเรื่องนี้
บางช่วงบางตอน พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า การที่ตนทำงานตรงนี้ไม่ได้หวังให้ก้าวหน้า เพราะตนไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ตนมาตรงนี้เฉพาะกิจ ถ้าตอนไปหากรัฐบาลปรับเราออก เราก็กลับไปทำสวน ไม่ได้คาดหวังว่าจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ แต่จะทำดีจนวันสุดท้าย ตอนนี้เราเป็นรัฐบาลประชาชนรอพึ่งเราอยู่ มีอะไรก็พูดความจริงกับประชาชน ซึ่งการที่ตนเป็นทหารจะได้เปรียบที่พูดน้อย ฝ่ายตรงข้ามจะได้ไม่รู้ว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่ แต่ในสังคมตอนนี้ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะถ้าพูดน้อยหาว่าไม่ทำงาน ช่วงหลังทำใจได้เพราะถ้าทำงานโดยที่สังคมไม่รู้คงลำบากกว่า เราต้องใช้ฝีมือให้มากขึ้น
“ทุกคนไม่ต้องเป็นห่วงถ้ามีการล่วงล้ำอธิปไตยเมื่อไหร่ ตนจะไม่เป็นแบบนี้แน่นอน ประชาชนจะได้เห็นตนในอีก 1 บทบาท บอกได้เลยอาวุธที่เราพร้อมเผชิญหน้า แรงกว่าปี 2554 2 เท่า”
ส่วนเรื่องทุ่นระเบิดก็ได้ประนามไปแล้ว เราเองก็มาดูว่าจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่
ด้านนายศิริมงคล อินทร์แก้ว นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้อ่านแถลงการณ์สามข้อเรียกร้องร ะบุว่า 1. รมช.กลาโหมควรต้องบูรณาการจัดการให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับกองทัพเลิกเกรงใจฝ่ายการเมืองที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเชิงเงื่อนไขส่วนตัวจนทำให้รัฐไทยดูอ่อนแอจนวันนี้ประชาชนตั้งคำถามว่าวันนี้รัฐบาลเพื่อไทย
2. ปิดพื้นที่จุดชนวนความขัดแย้งทันที เพราะตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ท่องเที่ยวแต่คือที่เผชิญหน้าของความขัดแย้ง และจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศไทยอาศัยตามหลักฐานการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
3. ทางองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงมองถึงความมั่นคงต้องมาก่อนไม่เห็นด้วยกับการเปิดด่านให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินต่อไม่ว่ากรณีใดใดเราต้องรักษาความมั่นคงอย่างเข้มงวด เพราะขณะนี้เราไม่สามารถจัดการปัญหาด้านความมั่นคงได้อย่างเป็นรูปธรรมถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นอีกใครจะรับผิดชอบและความมั่นคงย่อมสำคัญที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้จนกว่าสถานการณ์จะดีกว่านี้
พร้อมทั้งเปิดเผยหลังเข้าไปพบ รมช.กลาโหมว่า หายคลางแคลงใจมากขึ้น เข้าใจและรับรู้มากขึ้น สบายใจว่าเราไม่เสียเปรียบแน่นอน วันนี้เราได้รับฟังการอธิบายเรื่องมาตราการเปิดปิดด่านอย่างไรบ้าง ก็รู้สึกว่ายังเป็นมาตรการที่ยังได้เปรียบอยู่ หลังจากนี้จะไปพูดคุย ไปกระจายข่าว ทำความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริงอย่างไร สำหรับวันนี้ตนไม่คิดว่า พล.อ.ณัฐพล จะลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง รู้สึกเกินความคาดหวังไว้เยอะ
Advertisement