10 ก.ค. 68 จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจากเรื่องคุณสมบัติ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม รวมถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือ กรณียุบพรรคก้าวไกล
วันนี้ภาคประชาชนได้จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อรัฐธรรมนูญ60คือทางตัน รัฐธรรมนูญประชาชนคือทางออก โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นจากหลายเครือข่าย อาทิ เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) , โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) , มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) , ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) , คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) เป็นต้น
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ถูกออกแบบโดยจงใจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอและเต็มไปด้วยขวากหนามในการอยู่ในอำนาจและบริหารประเทศ
"ภาพวันนี้ที่มีรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยนำโดยคนนามสกุลชินวัตรเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่ทำอะไรไม่ได้ ดำเนินนโยบายอะไรไม่ได้และถูกสอยได้ทุกวัน เป็นภาพที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มองเห็นและจงใจออกแบบเพื่อให้เดินมาถึง เขาคิดภาพนี้มาตั้งแต่ปี 59 เพื่อไม่ให้คนนามสกุลชินวัตรมีทางกุมอำนาจบริหารประเทศและกุมอำนาจในสภาได้" นายยิ่งชีพกล่าว
นายยิ่งชีพ ยังกล่าวว่า มีกลไลมากมายที่ถูกออกแบบมา เช่น เรื่องมาตรฐานจริยธรรมที่ชื่อดูสวยหรู แต่เป็นกับดักโดยจงใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีทุกคนตั้งแต่สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา , นายเศรษฐา ทวีสิน จนมาถึงนางสาวแพทองธาร ต้องมีสักข้อที่ผิดมาตรฐานจริยธรรมสักข้อหนึ่ง รวมถึงมาตรา 144 เรื่องการห้ามแปรญัตติในการใช้งบประมาณที่กำลังจะแผลงฤทธิ์ แต่ดันมีเรื่องคลิปเสียงหลุดนายกรัฐมนตรีคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชาออกมาซะก่อน นางสาวแพทองธารจึงโดนใช้ความผิดด้านมาตรฐานทางจริยธรรมแทน
แม้นายกรัฐมนตรีจะผ่านด่านมาตรฐานจริยธรรมมาได้ ก็ยังมีกลไกชั้นต่อไปที่รอแผลง ฤทธิ์ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศที่คอยกำกับรัฐบาลว่าควรทำอย่างไรหรือไม่ควรทำอย่างไร และยังมีกลไกการยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์พรรคการเมืองได้โดยง่าย โดยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง มีการเขียนรายละเอียดคุณสมบัตินักการเมืองอย่างละเอียดยาวมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมา เพื่อให้ถอดถอนนักการเมืองเมื่อไหร่ก็ได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอำนาจในการถอดถอน คือองค์กรอิสระซึ่งมีที่มาแบบไม่อิสระและมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายทางการเมือง ที่เลือกมาจากสว. และกำลังจะถูกเลือกในชุดใหม่จากสว. ที่มาจากกระบวนการไม่โปร่งใสนำโดยสีน้ำเงิน ดังนั้นองค์กรที่ตรวจสอบอำนาจเหล่านี้มีเป้าหมายทางการเมืองคือการบังคับใช้เครื่องมือที่ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำอะไรได้และไม่สามารถบริหารประเทศได้
ทั้งนี้นายยิ่งชีพ ระบุว่า วันนี้เราไม่ได้มีนายกรัฐมนตรีชัดเจน และไม่รู้ว่ารักษาการนายกฯจะอยู่ได้นานแค่ไหน และไม่รู้ว่าจะเลือกคนใหม่ได้หรือไม่ และไม่รู้ว่าจะเลือกใคร ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นภาพที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจงใจออกแบบไว้ ส่วนมาตรการที่เหมือนจะดูดีว่านายกฯต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ตนมองว่าเป็นการจำกัดตัวเลือกทำให้ไม่สามารถเลือกผู้อื่นได้ แปลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตั้งใจเดินมาให้ถึงทางตัน เนื่องจากนายกฯถูกตัดสิทธิ์ง่าย และผู้ที่จะเป็นนายกฯได้มีจำกัด
ขณะที่นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากกลุ่มเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) กล่าวว่า สิ่งที่เห็นและเป็นอุปสรรคหลาย ๆ กระบวนการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ เราจึงอยากให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่ก็ไปติดคอขวดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยตีความว่าสุดท้ายจะได้แก้เมื่อไหร่หรือแก้ตอนไหน
เนื่องจากมีการยื่นให้ศาลฯวินิจฉัยอำนาจของสภาฯและจำนวนการทำประชามติว่าควรทำกี่ครั้ง ซึ่งยังค้างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะสภาฯไม่มั่นใจในอำนาจของตัวเองเหมือนเป็นกลไกการเตะทวง ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่มีความเร่งรีบ เพื่อจะพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วันที่ 22 ก.ค. นี้ศาลรัฐธรรมนูญจะให้คำตอบที่ชัดเจนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้ และเชื่อว่าแม้ตอนนี้จะมีเพียงรักษาการนายกรัฐมนตรีก็สามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และหากเราไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญได้ ก็จะวนลูปแบบเดิมไม่รู้จบ ซึ่งจะกระทบต่อทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรี และกลไกทางการเมืองอื่น ๆ ในระบบบริหารประเทศ
ทั้งนี้ในการแถลงข่าวยังมีตัวแทนจากภาคประชาชนอีกหลายกลุ่ม
Advertisement