เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2568 ภายหลังการประชุมพรรคพลังประชารัฐ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค แสดงความเห็นต่อท่าทีของรัฐบาลไทย ในวิกฤตการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โดยชี้ว่ารัฐบาลยังคงไม่แสดงรายละเอียดในการตอบโต้กัมพูชาเพื้อปกป้องเกียรติภูมิของชาติ หลังฝ่ายกัมพูชาเดินหน้าส่งหนังสือถึงเลขาธิการ UN กล่าวหาไทยว่า เป็นผู้รุกรานไม่ยึดสันติวิธีโดยทหารไทยเปิดฉากยิงทหารกัมพูชาก่อนจนมีผู้เสียวิชิตบริเวณช่องบก พร้อมกล่าวหาว่า ไทยไม่จริงใจในการเจรจาตลอดมา และกัมพูชายังอ้างประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนเพื่อสร้างความชอบธรรม พร้อมระบุว่าจะยื่นฟ้องไทยต่อศาลโลก (ICJ)
ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า "การเดินยุทธศาสตรฺ์การเมืองระหว่างประเทศที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่ากังวลใจคือ รัฐบาลยังกล้าๆ กลัวๆในการตอบโต้ เช่น กรณีกัมพูชาเปิดฉากรุกรานและยิงทหารไทยก่อนขณะลาดตระเวนในเขตไทย เมื่อ 28 พค 68 รัฐบาลมาชี้แจงอย่างเป็นทางการในเอกสารที่ยื่นต่อสหประชาชาติ หลังจากกัมพูชากล่าวหาไทยไปแล้ว 3 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า คนในรัฐบาลบางคนยังมีความเกรงใจผู้นำกัมพูชาอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งเกิดกรณีคลิปเสียงนายกรัฐมนตรีแอบเจรจากับนายฮุนเซน รัฐบาลจึงเริ่มมีท่าทีจริงจังมากขึ้น แต่ก็สายไปมากเพราะข้อกล่าวหานี้ถูกกัมพูชาเสนอเข้าสมัชชาสหประชาชาติแล้ว การไม่ใช้สิทธิ์ทางการทูตให้เต็มศักยภาพ คือความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบในเวทีโลกเพราะเป็นฝ่ายตั้งรับ"
พร้อมทั้งย้ำว่า รัฐบาลไม่เคยชี้แจงเรื่องกัมพูชาไม่ใช่คู่เจรจาตามสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ปี 1904 และ ปี 1907 จึงนำสนธิสัญญามาอ้างแบบผิดๆ โดยละเลยที่จะยึดถือแนวพรมแดนตาม "สันปันน้ำ" ระหว่างช่องบกถึงช่องสะงำตามสนธิสัญญา ทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนจากช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ถึงช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเรื่องนี้ พันโทแบร์นาด (1904) และพันเอกมองกิเอร์ (1907) ผู้เดินสำรวจเขตแดนได้บันทึก เรื่องสันปันน้ำไว้ตรงกันว่าสันเขามีความชัดเจน จึงไม่จำเป็นต้องมีหลักเขตในบริเวณดังกล่าว
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลยอมให้กัมพูชาใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ว่าเป็นเอกสารที่อยู่ในสนธิสัญญา ซึ่งคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะแผนที่นี้ถูกทำขึ้นในปี 1908 ภายหลังจากการเซ็นสนธิสัญญา 1907 ไปแล้ว รัฐบาลไทยขณะลงนามในสนธิสัญญาจึงไม่มีโอกาสตรวจสอบถึงความถูกต้องแต่อย่างใด ฝรั่งเศสได้นำแผนที่ดังกล่าวไปมอบให้ที่สถานทูตไทย ณ กรุงปารีสในภายหลัง ย่อมชัดแจ้งว่าผู้ลงนามในสนธิสัญญาไม่มีโอกาสได้เห็นเอกสารดังกล่าวเลย ที่สำคัญคือแผนที่ดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปจากภูมิประเทศจริงอย่างมาก
อีกประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้ง คือ บันทึกความเข้าใจ MOU 2543 ฝ่ายไทยไม่ได้บรรจุแผนที่ 1 ต่อ 50,000 เป็นเอกสารที่ใช้เจรจาทั้งที่ ราชการไทยใช้อยู่ และตรงกับภูมิประเทศจริง แต่กลับให้กัมพูชานำแผนที่ 1 ต่อ 200,000 มาใช้เป็นกรอบในการเจรจาได้ อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะใช้แผนที่คนละฉบับ
ที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาเจตนาละเมิด MOU 2543 มากถึง 600 ครั้ง ย่อมชี้ให้เห็นว่า กัมพูชาขาดความจริงใจในการดำเนินการตามข้อตกลงร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนโดยสันติวิธีตามกรอบ "การเจรจาทวิภาคี" แต่มีเจตนาสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแรงกดดันจากนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเรื่องดังกล่าวขึ้นสู่ศาลโลก
ส่วนพื้นที่ "ปราสาทตาเมือนธม" "ปราสาทตาเมือนโต๊ด" และ "ปราสาทตาควาย" รัฐบาลก็ไม่ได้ชี้แจงว่า ปราสาททั้งสามอยู่หลังอยู่ทางทิศตะวันตกของช่องสะงำซึ่งเป็น ที่ตั้งหลักเขตที่หนึ่ง จึงยึดถือหลักเขตที่สยามปักปันแล้วกับฝรั่งเศสเป็นสำคัญ เมื่อปราสาททั้งสามอยู่หลังหลักเขตที่ปักปันจึงเป็นของประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยกลับปล่อยให้กัมพูชาแถลงอยู่ฝ่ายเดียวเป็นเวลานานว่าเป็นของตน จนภาคประชาชนต้องออกมาชี้แจงว่าประสาทตาเมือนธมนั้นได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาณโดยกรมศิลปากรก่อนที่จะเกิดประเทศกัมพูชาในปี 2496 การนิ่งเฉยของรัฐบาลโดยไม่ยกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขึ้นต่อสู้ เรื่องดังกล่าวจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างดี
"ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องยอมอยู่ในภาพผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายเดียว เราต้องลุกขึ้นพูดอย่างมีหลักฐานว่า พื้นที่ตลอดแนวสันเขาพนมดงรักนั้นเป็นของไทย ไม่ใช่แค่ฝากทูตยื่นเอกสารให้สหประชาชาติ เงียบ ๆ ตามหลังกัมพูชา รัฐบาลต้องกล้าพูดความจริงบนเวทีโลกว่าเราไม่ใช่ผู้รุกราน การตอบโต้แบบน้ำท่วมปากของรัฐบาลทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ผู้มีอำนาจบางคนติดหนี้บุญคุณผู้นำกัมพูชาใช่หรือไม่" ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว พร้อมย้ำว่าพรรคพลังประชารัฐพร้อมสนับสนุนท่าทีเชิงรุกในเวทีสากลระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องอธิปไตยไทยบนพื้นฐานของความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ
Advertisement