วันนี้ (4 พฤษภาคม 2568 ) เวลา 08.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “โอกาสไทยกับนายกแพทองธาร” ตอนพิเศษ สร้างโอกาสในวิกฤต สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และนักลงทุน ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT2HD และวิทยุเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญที่นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ “โอกาสไทยกับนายก แพทองธาร” ประจำเดือนพฤษภาคม “สร้างโอกาสในวิกฤต สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และนักลงทุน” ว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการรับมือแผ่นดินไหวครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่า ตอนนั้นตนเองอยู่ภูเก็ต กำลังประชุมกับส่วนราชการจังหวัดภูเก็ตติดตามเรื่องคมนาคม ทันทีที่ทราบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็ได้สั่งปิดประชุม และเปิดประชุมด่วน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ผ่าน Zoom กับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าและได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่เคยรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างจริงจังมาก่อน จึงต้องให้ความรู้ในการรับมือกับสถานการณ์ ขณะเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวก็ประสานงาน ติดต่อกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกรุงเทพมหานคร และส่วนราชการสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทยและกองทัพ พร้อมสั่งกองทัพ อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยเร่งนำประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง เรื่องอำนวยการก็มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นส่วนหน้าขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
วันต่อมา ตนเองได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือการส่ง sms แจ้งเตือนภัย ซึ่งวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว sms ไม่สามารถส่งแจ้งเตือนประชาชน จากการทดลอง สามารถส่ง sms ได้แค่ 1,000 หมายเลขเท่านั้น แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง sms จะส่งถึงประชาชน เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน โดยให้บูรณาการการทำงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ กระบวนการ พร้อมออกแบบข้อความ รวมถึงข้อปฏิบัติหากเกิดแผ่นดินไหว หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ขึ้น จำเป็นต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ง่ายที่สุด เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด หากเกิดเหตุคับขัน สามารถส่งข้อความฉุกเฉิน ต้องเป็นข้อความที่มีประโยชน์ ถูกต้อง และทันที ผ่านทาง Cell Broadcast ไปยังมือถือของประชาชนในพื้นที่ที่กำหนด ไม่ใช่แจ้งเตือนแผ่นดินไหวเท่านั้น ยังใช้สถานการณ์น้ำท่วม หรือเหตุความไม่สงบด้วย ส่งครั้งเดียว สามารถกระจายไปถึงประชาชนได้ทีละหลายล้านคน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ว่า ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการหาความเท็จจริง โดยหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า จะทราบคำตอบที่แท้จริงเหตุผลของเหตุการณ์ตึกถล่มได้อย่างไร ซึ่งต้องมีการจำลองเหตุการณ์จาก 4 สถาบันร่วมกับกรมโยธาธิการฯ นำข้อมูลจากการทดลองมาเปรียบเทียบข้อมูล เพื่อหาข้อมูลที่แท้จริงถึงสาเหตุ ตึกเดียวถล่ม มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งหมดจะต้องใช้เวลาประมาณ 90 วัน สำหรับตนเองรู้สึกว่าใช้เวลานานในการหาคำตอบ
“ เรื่องนี้ตนรับไม่ได้หากจะไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ ซึ่งได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ได้มีการกำชับกับตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ถ้าในกระบวนการหากมีความผิดตั้งแต่การอนุมัติ การอนุญาต และการถูกออกแบบขึ้นมา ถ้าผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี ยังไม่ต้องพูดเรื่องตึกถล่ม และตึกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการตรวจสอบเช่นกัน อยากให้มีพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานที่ดีของประเทศ และตึกที่สร้างใน กทม. ด้วยข้อจำกัดของกฎต้องสามารถรองรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้“
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่หลังจากเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม ญาติของผู้สูญหายชาวเมียนมา เข้ามา บอกว่า “ช่วยด้วย” เขากังวลว่าคนในครอบครัวหายไปในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศของเขา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตนเองบอกว่า รัฐบาลจะช่วยอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นคนเมียนมา หรือคนไทย เพราะทุกคนคือคน ต้องช่วยกันสุดความสามารถอย่างเต็มที่ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบอยู่หน้างาน ซ
การค้นหาผู้สูญหายยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ พบจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ทุกคนพยายามเคลียร์ไซต์งานให้หมด คาดว่าใกล้จะเสร็จแล้วไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ พยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตนำร่างกลับไปทำพิธีที่ตามที่นับถือหรือศรัทธาต่อไป
“หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอีกครั้ง ซึ่งไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้ รัฐบาลได้รองรับไว้หมดแล้วว่าจะทำอย่างไร ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โดยมีขั้นตอนการแจ้งเหตุ ขั้นตอนในการเอาตัวรอดรักษาชีวิต รัฐบาลเตรียมพร้อมทั้งหมด ทุกระบบถูกจัดการถูกวางแผนไว้อย่างดีและรัดกุม”
ประเด็นเรื่องกำแพงภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับทีมกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มพูดคุยกันตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเตรียมรับมือกับประเด็นการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยรายละเอียดต่าง ๆ เตรียมพร้อมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ เช่น สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกหรือนำเข้าจากสหรัฐฯ เราได้ตรวจสอบทั้งในส่วนของภาษีที่แต่ละฝ่ายเก็บซึ่งกันและกัน รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการของได้อย่างไร
เหตุผลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากเมื่อคนไทยไปทำธุรกิจในสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับระบบการค้าแบบเต็มรูปแบบ เช่น หากนักลงทุนไทยได้ลงทุนสร้างโรงงานปลากระป๋องและดำเนินการผลิตแล้ว รัฐบาลสามารถเข้าไปสนับสนุน เพื่อขยายหรือต่อยอดได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ มองว่าเป็นโอกาสที่สามารถใช้ศักยภาพของคนไทยที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว ในการขยายธุรกิจไทยในต่างประเทศ ส่วนภาคอุตสาหกรรม
รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลการนำเข้า - ส่งออก และภาษีสินค้าต่าง ๆ อย่างรอบคอบ บางรายการพบว่าภาษีที่สหรัฐฯ เก็บจากไทยนั้นสูงกว่าที่เก็บจากประเทศอื่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องเจรจาและวางแผนอย่างละเอียด รวมทั้ง ต้องหารือกับภาคเอกชนเพื่อให้มั่นใจว่าหากรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับตัวและดำเนินงานต่อได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีการพูดคุยกับกลุ่มประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย กัมพูชา เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยกลุ่มอาเซียนมีความพร้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงมีประชากรกว่า 600 ล้านคน คิดเป็นหนึ่งในสิบของประชากรโลก ซึ่งถือว่าเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ หากสามารถรวมพลังกันได้ ก็จะเพิ่มอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ถึงความต้องการของสหรัฐฯ โดยได้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทั้งสองฝ่าย บางกรณีก็ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ทันที เนื่องจากอาจกระทบการต่อรองกับประเทศอื่น ๆ แต่ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีการเตรียมพร้อม และมีแนวทางรองรับอย่างชัดเจน รวมถึงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย
กรณี บริษัท มูดีส์ (MOODY’s) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ได้แสดงความเห็นในรูปแบบของ มุมมอง (Outlook) ต่อประเทศไทย ไม่ใช่การลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit ) ทั้งสองอย่างมีความหมายที่แตกต่างกัน โดยมูดีส์ประเมินว่าโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอาจลดลง เพราะว่ามีตัวแปรของมุมมองที่เพิ่มมากขึ้น คือ กำแพงภาษีของทรัมป์ ซึ่งการแสดงมุมมองดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง ทั้งนี้ รัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว พร้อมเดินหน้าผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการเข้ามาของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกยังคงมองว่าไทยมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ประเด็น การจัดทำสถานที่ท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องสนใจเรื่องโลซีซั่นนั้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า Entertainment Complex นั้นเงินที่เข้ามาลงทุนในโครงการนี้ ไม่ใช่เงินรัฐบาลหรือภาษีของประชาชน แต่เป็นเงินทุนจากภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะทำให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้เพิ่ม โดยรายได้จากภาษีจะมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในโครงการ รวมถึงการใช้บริการในกาสิโนด้วย
การสร้าง Entertainment Complex รัฐบาลจะทำตามโมเดลของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก็ได้นำรูปแบบไปปรับใช้เช่นกัน รัฐบาลไม่ต้องการให้โครงการนี้ถูกมองว่าเป็นเพียงกาสิโนเท่านั้น ต้องการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดงานอีเวนต์ สถานที่จัดคอนเสิร์ตในร่ม (Indoor) และโรงแรม เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังขาดสถานที่จัดคอนเสิร์ตในร่มที่มีคุณภาพและสามารถรองรับผู้ชมจำนวนมากได้ สำหรับกาสิโน จะดำเนินการภายใต้มาตรฐานสากล ต้องเป็น ‘การพนันอย่างมีความรับผิดชอบ’ (Responsible Gambling) ซึ่งจะมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ระบบตรวจสอบประวัติผู้เล่นอย่างเข้มงวด รวมถึงตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
“ ประเทศที่พัฒนาในหลายประเทศ ได้ปรับตัวเข้าสู่เทรนด์การสร้าง ‘Man-made Destination’ เช่น งาน World Expo จัดขึ้นที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจบงานก็จะถูกพัฒนาให้กลายเป็น Entertainment Complex ในอนาคต หากประเทศไทยมีโครงการลักษณะนี้ ก็จะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศ และช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ตลอดทั้งปี” นายกรัฐมนตรี ระบุ
โครงการกองทุนหมู่บ้านที่คนไทยรู้จักกันดี โครงการ“เอสเอ็มแอล”นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นโครงการที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รัฐบาลต้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ต่างรู้ปัญหาของตนเองดีที่สุด ฝ่ายบริหารนั้น จะเป็นฝ่ายที่สนับสนุน ที่สำคัญคือ ท้องถิ่นต้องเป็นผู้ระบุปัญหาของตนเอง ซึ่ง เอสเอ็มแอล เป็นโครงการที่ทำให้คนในหมู่บ้านมารวมตัวกันทำประชาคม หรือที่เรียกว่าการโหวต ว่าโครงการไหน คนในหมู่บ้านต้องการทำด้วยกัน โดยให้เสนอโครงการมาเช่นโครงการ A B C ให้คนในหมู่บ้านมาโหวตร่วมกันว่าอะไรควรจะมาก่อน
รัฐมีงบสนับสนุนให้ซึ่งขนาด เอสเอ็มแอล ขึ้นอยู่กับประชากรว่ามีกี่คน 2 แสน 3 แสน และ 4 แสน ตามจำนวนประชากรในชุมชนนั้น สมมุติว่าได้งบประมาณ 3 แสน แล้วจะทำอะไร อาทิ เครื่องอัดฟาง เพื่อทำเป็นฟางก้อน แล้วนำไปขาย โดยซื้อ 3 เครื่อง 3 แสน หรือ ซื้อ 1 เครื่อง 1 แสน แล้วเหลืออีก 2 แสน นำไปทำอย่างอื่นในชุมชน หากทำประชาคมกันแล้ว เห็นตรงกัน ก็สามารถดำเนินการได้เลย เป็นสิ่งที่รัฐต้องการกระจายอำนาจสู่ชุมชนจริง ๆ ให้ประชาชนได้คิดกันจริง ๆ ว่า หมู่บ้านของเราต้องการอะไร หรือจะนำงบฯ ไปใช้ในเรื่องอุปโภคบริโภค สาธารณูปโภคก็ได้ เช่น หมู่บ้านควรมีน้ำสะอาด เป็นต้น ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเสนอโครงการผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ
สำหรับ “โอดอส (ODOS)” ซึ่งเป็นโครงการที่เพิ่มศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษาได้เปิดโลกทัศน์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติออกฉลากการกุศล วงเงิน 5.3 พันล้านบาท ส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียน ทั้งนี้ ขอให้โหลดแอปฯ “ทางรัฐ” และรีบสมัคร เพราะใกล้ปิดรับสมัครแล้ว โครงการ “โอดอส ซัมเมอร์แคมป์” เป็นการกระจายโอกาสให้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักเรียนที่สอบได้ที่ 1 ก็สามารถไปเรียนที่ต่างประเทศได้เป็นคอร์ส
ช่วงท้ายของรายการ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาพถ่ายในโทรศัพท์มือถือ โดยภาพแรกเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี นายฮุน เซน ในขณะที่มายืนรอส่งกลับ รู้สึกประทับใจและการพบกับ นายฮุน เซน เป็นการพูดคุยที่ง่าย ๆ แต่ได้ประสบการณ์มาก นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้เล่าความประทับใจช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้ถ่ายรูปคู่กับมาสคอตเด็กผู้ชายถือปืนฉีดน้ำที่มีหน้าตาคล้ายกับน้องธาษิณ ลูกชาย รวมทั้งเล่าถึงคลิปวิดีโอเยาวชนเล่นดนตรีที่ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ขณะที่ลงพื้นที่ดูงานเรื่องผ้าไทย ซึ่งผ้าไทยนั้นมีอัตลักษณ์ มีลวดลายที่น่าสนใจ
“ต้องขอบคุณทุกท่านที่ได้ติดตามรายการ ซึ่งวันนี้ได้เล่าหลายเรื่องเนื่องจากหายไป 1 episode พยายามเล่าให้ครบและจะมาให้ได้บ่อย ๆ ทุก ๆ episode เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรนำโอกาสมาถึงประชาชนในรูปแบบใหม่กันบ้างซึ่งเป็นสิ่งที่อยากทำให้ต่อเนื่อง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
Advertisement