เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.64 กลุ่มคนทำงานกลางคืน โดยมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ พร้อมตัวแทนพนักงานในสถานบริการอาบอบนวด, อะโกโก้ คาราโอเกะ, บาร์, Sex worker และพนักงานบริการอิสระอื่น ๆ นัดรวมตัวจัดกิจกรรม “ตบส้นสูงพบกันหน้าทำเนียบ” ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องเงินเยียวยาจากภาครัฐเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ รัฐต้องให้เงินเยียวยาที่สามารถอยู่ได้จริง เป็นเงิน 5,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะได้กลับมาเปิดสถานบริการ
โดยทางกลุ่มมีการแสดงออกเชิงสัญลักษ์ ใช้รองเท้าส้นสูงที่ใส่เป็นประจำในการทำงาน ฝากข้อความระบายความทุกข์ ผ่านรองเท้าส้นสูงของตัวเองไม่ต่ำกว่า 10 คู่ ส่วนใหญ่เป็นข้อความร้องขอให้เยียวยาว่า “เก็บภาษีถ้วนหน้า แต่เงินเยียวยาไม่ทั่วถึง, พนักงานบริการก็คนเหมือนกัน” หรือบางคนเขียนถึงสิทธิ์ในการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เทียมว่า อยากมีวัคซีนตัวเลือกที่เลือกเองได้ พร้อมแขวนบิกินี่และรองเท้าส้นสูงตรงประตูและริมรั้วทำเนียบรัฐบาล หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7-14 วัน จะกลับมาทวงถามอีกครั้ง เพราะได้รับความลำบากจนหลังชนกำแพงแล้ว
นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระ ตัวแทนร้านนวดสปา เปิดเผยว่า พวกตนเป็นกลุ่มแรกที่ถูกพิจารณาสั่งปิด และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกพิจารณาสั่งให้เปิด เพราะรัฐบาลมองว่าอาชีพของพวกตนมีความเสี่ยงสูง ทั้งการสัมผัสผู้คน เป็นห้องแอร์มิดชิดและเป็นห้องส่วนตัว อีกทั้งกลุ่มอาชีพนี้ถูกปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย สุดท้ายจึงไม่ได้การรองรับตามกฎหมายแรงงาน ดังนั้นเมื่อถูกตีตราแบบนี้ กลุ่มคนทำงานแบบพวกตนก็จะไม่สามารถเข้าสู่ระบบราชการใด ๆ ได้ มาตราการเยียวยาต่าง ๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึงพวกตนได้
ทั้งนี้หากนับตั้งแต่ถูกสั่งปิดตั้งแต่รอบแรก ตนยอมรับว่าพนักงานนวดสปาทุกคนตั้งตัวไม่ทัน เพราะแรงงานกลุ่มตนไม่ใช่แรงงานประจำ และไม่มีสัญญาเหมือนอาชีพอื่น การถูกสั่งปิดก็เหมือนถูกลอยแพ เจ้าของสถานประกอบการไม่มีการเยียวยาใด ๆ สิ่งสุดท้ายที่พนักงานทำได้คือแยกย้าย บางคนเคว้งรายได้เป็นศูนย์ จากเดิมหากเป็นคนขยันรายต่อวันประมาณ 5,000 บาท บางคนสามารถถึงขั้นออกไปรับจ้างทำงานก่อสร้าง บางร้านโชคดีมีนายจ้างให้ที่พักอาศัย เพื่อรอวันที่จะได้กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ดังนั้นสิ่งแรกที่กลุ่มพวกตนต้องการจะได้รับคือการเยียวยาที่เท่าเทียมกับกลุ่มคนในระบบแรงงาน
ทีมข่าวลงพื้นที่สุขุมวิทซอย 4 (ซอยนานา) ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ และมีร้านอาบ อบ นวด ผับบาร์ และคาราโอเกะ แต่วันนี้ต้องปิดตัวลงตามมาตราการของรัฐ บรรยากาศภายในซอยค่อนข้างเงียบเหงา จะพบเพียงรถที่สัญจรผ่านซอยนี้เท่านั้น
ทีมข่าวมีโอกาสเข้าไปสำรวจร้านอาบ อบ นวด แห่งหนึ่ง เป็นร้านขนาดใหญ่มีพื้นที่กว้างกว่า 1 ไร่ อาคารบริการ 4 ชั้น ประกอบไปด้วย ชั้นที่ 1 มีตู้กระจก, โซนที่นั่งสำหรับสาว VIP, โซนรับแขก, โซนบาร์ และห้องคาราโอเกะ ทีมข่าวโทรศัพท์สัมภาษณ์คุณไก่ เจ้าของร้าน เปิดเผยว่า ตอนนี้ยังมีภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ยังคงจะต้องจ่าย แม้รัฐบาลจะช่วยปรับลดช่วง 1-2 เดือน แต่ตนก็ยังต้องจ่ายเดือนละหลักหมื่น สุดท้ายก็เหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร ความจริงกิจการปิด ควรงดเรียกเก็บไปก่อน
นอกจากค่าน้ำ ค่าไฟ ยังมีค่าเช่าที่อีกเดือนละหลักแสนบาท และยังมีพนักงานประจำ ซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคม ก็ยังจะต้องจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้ ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้ถ้าคนมีทุนก็อาจจะรอด แต่สำหรับคนไม่มีทุนก็คงลำบาก โดยสำหรับผู้ประกอบการบางคนก็ต้องปรับตัวไปทำอาชีพอื่น พนักงานบางคนออกไปค้าขายออนไลน์
สำหรับรายได้ของร้านอาบ อบ นวด ขณะนี้ตัวเลขเป็นศูนย์ แต่ค่าเช่าตึก 3 แสน/เดือน ส่วนค่าไฟ 6 หมื่น/เดือน และค่าน้ำ 1.3 หมื่น/เดือน
-พนักงานเชียร์แขก หันไปขายอาหารเสริม ขับแกร็บไบค์
-คนรับรถ หันไปรับจ้างติดวอลเปเปอร์
-แคชเชียร์ กลับภูมิลำเนาไปอยู่กับครอบครัว
-พนักงานซักรีด เปลี่ยนไปเป็นช่างก่อสร้าง
-แม่บ้าน ไปเป็นแม่บ้านคอนโดฯ
คุณปิงปอง (สงวนชื่อ-สกุลจริง) ตัวแทนพนักงานบริการอาบ อบ นวด จากจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร้านอาบอบนวดถูกสั่งปิดเป็นกลุ่มแรก ทั้งทางที่ไม่ใช่กลุ่มแพร่เชื้อ ดังนั้นปัญหาหลังคือรายได้ไม่มี ตกงานทันที และไม่มีประกันสังคมรองรับเหมือนแรงงานในระบบ
ขณะเดียวกันกลุ่มที่ทำงานอาบอบนวด มักจะถูกเรียกว่า “กลุ่มจ้างทำของ” คือได้งานเป็นรายชิ้น ซึ่งเมื่อได้รับผลกระทบแบบนี้นายจ้างจึงไม่สนใจและรับผิดชอบ แต่ในเวลาที่พวกตนไปสมัครงานกลับจะต้องมีเอกสารที่ครบถ้วนเหมือนกับงานอื่น ๆ มีกฎบังคับเข้า-ออกงานตามเวลา และได้วันหยุดตามหมายเลขที่ติดบนหน้าอก หากหยุดก็จะถูกหักเงินอีกจำนวนหลายบาท ซึ่งจริง ๆ แล้วขัดต่อกฎหมายแรงงาน
รวมถึงสถานที่ให้บริการที่พวกตนทำงานอยู่ มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่พวกตนกลับไม่ถูกรับรองเป็นแรงงานอยู่ภายใต้ประกันสังคม ซ้ำรัฐบาลก็มองไม่เห็นพวกตน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องในวันนี้ ต้องการให้รัฐบาลมองเห็นพวกตน อยากให้หันมาเยียวยาบ้าง และขอให้เป็นเรื่องด่วน เพราะหากย้อนกลับไป ที่ผ่านมาพวกตนทำจีดีพีให้กับประเทศมหาศาล แต่ทำไมวันนี้ไม่ได้รับการดูแล วันดีคืนดีถูกล้อซื้อจับกุมบ่อยครั้ง ทั้งที่ข้อตกลงใต้สะดือมันคือความสมัครใจร่วมกัน
คุณปิงปอง กล่าวถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ว่า รัฐบาลควรยกเลิกเพราะไม่ได้ประโยชน์ต่อสังคม และยังไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อพนักงานบริการด้วย เพราะทำให้นายจ้างออกกฎเอาเปรียบ เป็นกฎหมายที่มีช่องโหว่ให้คอร์รัปชัน ซึ่งตามหลักมี ป.วิอาญามากมายที่นำมาบังคับใช้ได้ แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ ดังนั้นเมื่อกลุ่มนายจ้างทำผิดกฎหมาย นำเด็กต่ำกว่า 18 ปีเข้าทำงาน สุดท้ายก็ต้องจ่ายส่วย
ดังนั้นตนเชื่อว่าหากยกเลิกพ.ร.บ. กลุ่มคนทำงานอาบอบนวด จะสามารถเข้าอยู่มาภายใต้กฎหมายแรงงานได้ เชื่อว่าพนักงานไม่มีใครทำอาชีพนี้ไปตลอดชีวิต บางคนทำด้วยความสุจริต บางคนตัดสินใจที่จะไปกับลูกค้า ถือเป็นสิทธิ์ส่วนตัวไม่มีใครมาห้ามได้ และถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องคน 2 คนที่จะตกลงกันที่จะมีหรือไม่มีสัมพันธ์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าได้รับผลกระทบจริง ๆ วันนี้พวกตนไม่ต้องการข้าวสาร อาหารแห้ง แต่ต้องการเงินเยียวยา เพราะยังมีครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นลูก พ่อแม่ และค่าใช้จ่ายทั้งผ่อนบ้านผ่อนรถอีกมากมาย ซึ่งพวกตนขอแค่ 5,000 บาทต่อเดือน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
จากนั้นตัวแทนกลุ่มได้ยืนหนังสือเรียกร้องผ่านตัวแทนรัฐบาล นายสมพาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากรับหนังสือแล้วนายสมพาส กล่าวสั้น ๆ ว่า จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค.ชุดก่อนนำเข้าศบค.ชุด โดยจะเร่งดำเนินพิจารณาโดยเร็วที่สุด
สำหรับการจัดกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทางกลุ่มจัดกิจกรรมอยู่บนทางเท้า จำนวนไม่ถึง 20 คน ทามกลางการดูแลและอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1)
Advertisement