พฤติการณ์สืบเนื่องจากจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสภาการแพทย์แผนไทย อีกทั้งได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ตรวจสอบบุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์กระทำการรักษาโรค และฉีดเสริมความงามให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงให้ตรวจสอบร้านขายยากลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติการณ์ใช้พนักงานร้านยาที่ไม่ใช่เภสัชกร ขายยาให้กับประชาชนทั่วไป
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทำการสืบสวนพบว่า มีบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์และเภสัชกรหลายรายในพื้นที่หลายจังหวัดลักลอบใช้สถานที่ต่างๆ เปิดรับการรักษาและขายยาให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปจริง จึงนำมาสู่การปฏิบัติการร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสภาการแพทย์แผนไทย ระดมกวาดล้างหมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน และเภสัชกรเถื่อน ในห้วงระหว่างวันที่ 21 – 26 พฤษภาคม ดังนี้
1. หมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน ในพื้นที่ จ .ชลบุรี จ.นนทบุรี และ กทม. รวมจำนวน 8 จุด รายละเอียดดังนี้
1.1. สถานพยาบาลสำหรับตรวจรักษาโรคทั่วไปแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จับกุม นาย ทรงยศ (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี ผู้ทำการตรวจรักษา ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.2. คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเปิดให้บริการรักษาตรวจรักษาโรคทั่วไป จับกุม น.ส.วริยา (สงวนนามสกุล) อายุ 52 ปี ผู้ทำการตรวจรักษาผู้ป่วย ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.3. คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จับกุม น.ส.เทียนทอง (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี และ น.ส.กมลเนตร (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ผู้ให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิวกับผู้มารับการรักษา ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.4 คลินิกแห่งหนึ่งบริเวณ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จับกุม น.ส.พุทธรัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ยา ฉีดให้กับประชาชน ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.5 คลินิกแห่งหนึ่งบริเวณ ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี จับกุม น.ส.เจษฎา (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี ผู้นำผลิตภัณฑ์ยา ฉีดให้กับประชาชน โดยสถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการและใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลแต่อย่างใด มีการติดเลขที่ใบอนุญาตคลินิกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นคลินิกที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.6 ร้านนวดเพื่อสุขภาพบริเวณ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร จับกุม นายสุรชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 44 ปี อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามใน TikTok จำนวน กว่า 180,000 คน ผู้ทำการตรวจรักษาโรคไหล่ติด โดยวิธีการนวด ดึง และดัดกระดูก ให้ผู้เข้ารับการรักษาโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับใบรับอนุญาต”
1.7 คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งบริเวณแขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จับกุม น.ส.อภิชญานันท์ (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี ซึ่งนำเครื่องมือยิงเลเซอร์กำจัดขนให้ผู้รับการรักษาโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยเครื่องยิงเลเซอร์นั้นจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ใช้จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
1.8. คลินิกแห่งหนึ่งบริเวณ พระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จับกุม น.ส.ฐิติตาฯ ( สงวนนามสกุล ) อายุ 30 ปี ผู้ทำการตรวจรักษาภายในสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินสถานพยาบาล ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต”
รวมตรวจค้น 8 จุด โดยเป็นสถานพยาบาลเถื่อน จำนวน 2 แห่ง, จับกุมผู้ต้องหา 9 ราย โดยเป็นแพทย์เถื่อน 8 ราย แพทย์จริงที่ทำการรักษาในสถานพยาบาลเถื่อน 1 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง เช่น ยาแผนปัจจุบัน ยาขึ้นไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นๆ รวมจำนวน 176 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ. ดำเนินคดี
นอกจากนี้ได้มีการจับกุมกลุ่มร้านขายยาน้ำ แก้แพ้ แก้ไอ รวมถึงการขยายผลจับกุมโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2568 นี้ เดือนมกราคม และเดือนเมษายน ที่ผ่านมาได้ร่วมกันทลายโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอมจำนวน 2 แห่ง และในการดำเนินงานครั้งนี้ อย.ได้ประสาน ปคบ.ส่งข้อมูลร้านขายยากลุ่มเสี่ยง แก้แพ้ แก้ไอ ให้กลุ่มวัยรุ่นไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงได้ร่วมกันตรวจค้นในครั้งนี้
โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. ได้เข้าตรวจสอบ
ร้านขายยา ภายในซอยเสือใหญ่อุทิศ แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 จุด
โดยร้านยาในกลุ่มนี้ บางร้านทราบดีอยู่แล้วว่าแก้ยาไอที่จำหน่ายให้กับกลุ่มวัยรุ่นไปนั้นเจตนานำไปผสมกับน้ำกระท่อมเพื่อใช้เป็นสารเสพติด มีพฤติการณ์ในการจูงใจกลุ่มวัยรุ่นให้ซื้อยาแก้ไอมากขึ้น โดยจัดทำระบบสมาชิก เช่น สมาชิกทั่วไป ต้องมียอดซื้อ 15 แถม 1 ขวด จะสามารถสะสม 1 แต้ม เมื่อครบ 15 แต้ม หรือซื้อ 225 ขวด โดยยอดซื้อแบบสมาชิกทั่วไปต่อเดือนประมาณ 13,000 – 15,000 จะได้เลื่อนสถานะเป็นสมาชิกระดับ VIP เมื่อเป็นสมาชิกระดับ VIP แล้วจะต้องซื้อ 12 ขวดจะได้รับแถม 1 ขวด โดยต้องมียอดซื้อต่อเดือนประมาณ 8,000 - 10,000 บาท เพื่อคงสถานะ VIP ทำให้ยาเสพติดประเภท 4X100 นี้แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็วยิ่งขึ้น และบางร้านยังตรวจพบว่ามีการขายยาหมดอายุหรือยาเสื่อมคุณภาพให้กับประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จับกุมผู้ที่ขายยาไม่ใช่เภสัชกร จำนวน 3 ราย ได้แก่ น.ส.พรรณ์นิภา (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี , นายธนทัศ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี และ น.ส.มาซีเตาะ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ต้องหาที่ขายยาให้แก่ประชาชนนี้ มี 2 ราย จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนอีกหนึ่งราย จบเพียงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งร้านขายยาทั้งหมดไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน พบผลิตภัณฑ์ยาผิดกฎหมายและยาเสื่อมคุณภาพรวม จำนวน 3,378 ชิ้น และพบยาปลอม 317 ขวด จึงได้ตรวจยึดของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
Advertisement