จากกรณีที่มีผู้เสียหายหลายราย เผยข้อมูลผ่านโซเชียลฯ ว่าจู่ ๆ โทรศัพท์มือถือก็โอนเงินออกเอง เสียหายมูลค่าหลักแสนบาท
ล่าสุดทีมข่าวลงพื้นที่มาพูดคุยกับ นายวิษณุสรรค์ สามป๊อก อายุ 26 ปี หนุ่มวิศวไฟฟ้า ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง เล่าให้ทีมข่าวทั้งน้ำตาคลอว่า ตนทำงานมาได้ครึ่งปีและเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารดังกล่าว โดยอดทนตั้งใจทำงานใช้ชีวิตแบบมัธยัสถ์สุด ๆ มีจนมีเงินเก็บ 101,560.00 บาท
นายวิษณุสรรค์ เล่าต่อว่า คือวันที่ 7 ม.ค. 66 ตนนอนเล่นเกมจนข้ามคืนไปถึงตี 2 ของวันที่ 8 ม.ค. จากนั้น เห็นว่าโทรศัพท์แบตจะหมด จึงได้ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือเอาไว้แล้วก็นอนหลับไปปกติ พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ไม่ได้ไปหยิบไปจับโทรศัพท์ดังกล่าวเนื่องจากตนเองนั้นมีโทรศัพท์ 2 เครื่อง เครื่องที่เกิดเหตุเป็นระบบ Android เอาไว้เล่นเกม ส่วนเครื่องที่ใช้สื่อสารคือระบบ ios จึงใช้แต่โทรศัพท์มือถือ ios และไม่ได้ไปจับมือถือเครื่องที่เกิดเหตุเลยจนช่วงบ่ายโมง จนมาสังเกตเห็นหน้าจอมือถือปลดล็อกเองได้ พอไปจับดูที่โทรศัพท์มือถือปรากฏว่าเครื่องรวนหน้าช็อต ๆ และเห็นข้อความส่งเข้ามาว่า ได้โอนเงินไปจำนวน 1 แสน 1 พันกว่าบาท
ซึ่งระบุข้อมูลว่า ได้โอนเงินไปในช่วงเวลา 11.52 น. ซึ่งช่วงเวลานั้นตนยังไม่ได้จับโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้เลย ตอนแรกตนเองยังแทบไม่เชื่อจึงลองกดเข้าไปตรวจสอบในแอพพลิเคชั่นของธนาคารอีกครั้งปรากฏว่า เงินในบัญชีถูกโอนออกไปหมดเกลี้ยงจึงเข้าไปดูข้อมูลในแอพพลิเคชั่นก็จะเห็นว่าเป็นการโอนเงินไปให้ปลายทาง มีชื่อและนามสกุลของคนที่โอนไปด้วย ยืนยันในวันนั้นตนไม่ได้จับโทรศัพท์มือถือ ทำธุรกรรมหรือเล่นเกมหรือทำอะไรทั้งนั้น อยู่คนเดียวและไม่ได้มีใครมาที่ห้องพัก และไม่เคยบอกรหับัญชีธนาคารกับใคร ไม่เคยโหลดแอพสรรพกรหรือแอพแปลก ๆ แต่อย่างใด
หลังจากนั้น โทรไปที่คอลเซนเตอร์ของธนาคารต้นทางเพื่อขอให้อายัดเงิน แต่เงินได้มีการโอนออกไปแล้ว จากนั้นก็รีบไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อนำใบแจ้งความไปแจ้งธนาคาร ทั้งต้นทางและปลายทางและขอข้อมูล IP Address หรือ Address IMEI ที่เป็นเหมือนบัตรประชาชนของเครื่องโทรศัพท์และขอโลเคชั่นตำแหน่งการเข้าแอพ แต่ธนาคารตอบว่าไม่สามารถหาได้ ต้องให้หน่วยสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นคนสืบข้อมูล ซึ่งก็งงว่าธนาคารเป็นเจ้าของระบบทำไมไม่สามารถให้ข้อมูลกับผู้เสียหายได้หรือเป็นคนตามข้อมูลให้กับผู้เสียหาย
จากนั้นจึงได้แจ้งความให้ธนาคารเป็นคนตรวจสอบเช็คธุรกรรมและ statement ของบัญชีปลายทางซึ่งทางธนาคารแจ้งว่าต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการถึง 15 วันหลังจากนั้นสะสมผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป ตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้เงินคืนหรือไม่แต่พอโพสต์เรื่องนี้ลงในโซเชียลมีเดียปรากฏว่าก็มีคนที่เป็นผู้เสียหายลักษณะเดียวกันหลายคน ซึ่งตนสังเกตว่าทั้งหมดใช้โทรศัพท์มือถือระบบ Android ส่วนเงินในธนาคาร มีหลากหลายแทบทุกธนาคารและที่น่าสังเกตคือชื่อบัญชีปลายทางเป็นชื่อคนเดียวกันหลายเคส จึงคิดว่าวิธีการดูดเงินของมิจฉาชีพน่าจะเป็นการแฮกโทรศัพท์มือถือ
ในขณะเดียวกัน นายกิตติกร ผู้เสียหาย อีกรายได้เข้าร้องเรียนกับ นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พร้อมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่าโทรศัพท์ของตนมีลักษณะผิดปกติคือหน้าจอดับแต่โทรศัพท์สั่น ใช้การไม่ได้ ประมาณ 1 ชม. กว่า ๆ หลังจากนั้นโทรศัพท์กลับมาใช้งานได้ตามปกติ แต่แอปฯ ของธนาคารกลับมีการแจ้งเตือนว่า แอปฯ ของธนาคารไม่ได้ถูกติดตั้งโดย playstore ให้ทำการลบแอปฯ ออกและติดตั้งใหม่ ซึ่งตอนนั้นเงินยังไม่ได้หายออกไปจากธนาคาร
จนกระทั่งวันที่ 11 ม.ค. ช่วงเวลา 10.00 - 12.30 น. ตนเอาโทรศัพท์ไปชาร์จแบตและนอนหลับไปจนกระทั้งประมาณบ่าย 3 ตนตื่นขึ้นมาดูโทรศัพท์ พบว่าเงินในแอปฯ ธนาคาร ทหารไทยได้หายออกไปจากบัญชีทั้งหมดจำนวน 92,709 บาท เข้าบัญชีที่ตนไม่รู้จัก
ทีมข่าวได้สอบถามดังกล่าว กับผู้เชี่ยวชาญด้านสมาร์ทโฟนและระบบ ICT คุณวรภัทร droidsans เจ้าของเพจ droidsans ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่าปัจจุบันมี มิจฉาชีพดูดเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือหลายรูปแบบมากทั้งการโทรหาหลอกให้โอนเงินโดยตรง หรือมาจากแอพพลิเคชั่นปลอมหลอกว่าเป็นหน่วยงานราชการ การแฮกข้อมูลมือถือด้วยระบบรีโมท ส่วนล่าสุดที่เป็นข่าวพูดถึงการถูกดูดข้อมูลจากสายชาร์ทโทรศัพท์มือถือ
คุณวรภัทร เผยกับทีมข่าวว่ายอมรับว่า ในปัจจุบันสายชาร์จสำหรับใช้ดูดข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือนั้นมีอยู่จริง หรือสาย O.MG cable แต่ไม่ได้หาซื้อได้ตามท้องตลาด แต่อาจจะมีการลักลอบขายหรือแอบขายทางออนไลน์ ราคาสูงเส้นหนึ่งไม่ต่ำจาก 5,000 บาท ซึ่งจริง ๆ ไว้สำหรับใช้ในทางการสืบสวนล้วงข้อมูลอาชญากรมากกว่า
ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายบอกว่าสังเกตเห็นว่าตัวเครื่องมีการทำงานเองและดูดเงินไปเอง คุณวรภัทรเผยว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก ซึ่งเป็นการแฮกข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ด้วยวิธีรีโมท Access ซึ่งจะมาจากการหลอกให้เราติดตั้ง application ก่อนที่จะมาจาก SMS หรือไลน์ที่ปลอมตัวต่าง หากเราไปพลาดกดติดตั้งแอพพลิเคชั่นพวกนี้ก็มีโอกาสที่จะทำให้ มิจฉาชีพเข้ามาทำการรีโมทเครื่่อง ควบคุมเครื่องเราและขโมยรหัสผ่าน otp ไปทำธุรกรรมได้ ซึ่งการใช้รีโมท Access ขโมยข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเฉพาะระบบ Android เท่านั้นระบบ iOS ก็สามารถทำได้เพราะขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของแอพพลิเคชั่น ที่หลุดเข้ามาในเครื่อง
สำหรับวิธีป้องกันการถูกรีโมทแอกเซส คือ เข้าไปที่การตั้งค่าโทรศัพท์มือถือความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ติดตั้ง App ที่ไม่่รู้จัก เมื่อเปิดเข้าไปแล้วจะเห็น Application ต่าง ๆ สังเกตดูว่ามีการเปิดรับข้อมูลทางไหนบ้าง เช่นหากมีการเปิดรับข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตให้เลื่อนปิด หากพบว่า สมาร์ทโฟนของตนเองมาอาการลวน ๆ ไม่สามารถควบคุมเครื่องได้สัมผัสหน้าจอไม่ติดเลย เห็นว่ามีการเปิดเข้าเปิดออกใน app ธนาคาร ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า กำลังถูกมิจฉาชีพรีโมท access เข้าเครื่อง ให้รีบถอดซิมโทรศัพท์มือถือออกทันที
Advertisement