"โช้คอัพ" ในภาษาอังกฤษนั้นใช้คำว่า Shock Absorber หมายถึง อุปกรณ์สำหรับที่ช่วยซับแรงกระแทกและลดแรงสั่นสะเทือน ทำหน้าที่ ช่วยบรรเทา หรือช่วยหน่วงแรงกระแทก และแรงสั่นสะเทือน ทำหน้าที่หน่วงการเคลื่อนที่ขึ้นลงของตัวถังรถยนต์ขณะขับขี่ ทำให้เกิดความนุ่มนวล และลดการโคลงของตัวรถ ทำให้รถทรงตัวได้ดี
โช้คอัพที่ดีนั้น ต้องสามารถหน่วงการเต้นของระบบรองรับให้น้อยที่สุด เพราะหากการเต้นขึ้น-ลงของระบบรองรับมีระยะเวลานานเกินไป จะทำให้ผู้โดยสารที่อยู่ในรถคันนั้น ไม่ได้รับความนุ่มนวลขณะโดยสารเป็นอย่างมาก ที่นี้เมื่อโช้คอัพถูกใช้งานไปนาน ๆ เข้า ก็ต้องมีการเสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ เป็นธรรมดา แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า โช้คอัพตัวนั้นต้องถึงเวลาเปลี่ยนหรือซ่อมได้แล้ว
โดยปกติแล้วโช้คอัพหนึ่งตัวจะสามารถงานได้กว่า 50,000 กม. และราคาค่าตัวของโช้คบางยี่ห้อที่มีค่าตัวสูง ก็จะเป็นเกรดดีหน่อย หรือถ้าคิดเป็นการขึ้นลงของตัวโช้คอัพก็น่าจะตกอยู่ที่กว่าแสนครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นเกณฑ์ แต่ส่วนใหญ่รถบางคันอาจจะวิ่งบนถนนที่ราบเรียบสม่ำเสมออยู่เป็นประจำและไม่แบกน้ำหนักบรรทุกมาก กับรถอีกคันหนึ่งที่ต้องวิ่งอยู่บนถนนที่ขุรขระเป็นหลุมเป็นบ่อแทบทุกวัน แถมยังต้องแบกน้ำหนักบรรทุกมาก ๆ อยู่เป็นประจำ อย่างนี้ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้รถยนต์คันหลังจะใช้ระยะทางวิ่งที่น้อยกว่ารถยนต์คันแรก แต่โช้คอัพที่ใช้ก็น่าจะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าคันแรก ในแถบยุโรปนั้นถนนนทางค่อนข้างเรียบกว่าบ้านเรามาก การทำงานของโช้คอัพจึงเคลื่อนตัวในระยะสั้น ๆ แต่ก็ทำให้เกิดการสึกหรอของแกนโช้คอัพได้เช่นกัน ดังนั้นรถเก๋งในยุโรปจึงมักเปลี่ยนโช้คอัพทั้ง 4 ตัวปีละครั้งเพื่อความปลอดภัย ผิดกลับบ้านเราใช้กันจนพัง แถมพังแล้วยังซ่อมอีกไม่ยอมเปลี่ยน เรียกว่าสู้กันให้ตายไปข้างนึงเลย
แต่ก็มีข้อสังเกตได้หลายอย่างว่า โช้คอัพของรถยนต์ท่านเริ่มเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง เช่น รถเริ่มไม่เกาะถนนเมื่อเข้าโค้ง ทั้งที่ยางรถยนต์ยังอยู่ในสภาพดี ระยะทางเบรกเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เพิ่งไปเปลี่ยนผ้าเบรกมาใหม่ หรือผ้าเบรกยังเหลืออยู่อีกมากและระบบเบรกก็ปกติดี ความนุ่มนวลของระบบช่วงล่างลดน้อยลงกว่าเดิม หรือที่พบได้บ่อยครั้ง ก็คือ หน้ายางสึกไม่สม่ำเสมอ และสึกในลักษณะไม่ปกติ คือ เป็นบั้ง ๆ ช่วง ๆ ถ้าท่านพบความผิดปกติเหล่านี้ ก็ควรจะตรวจเช็คโช้คอัพของรถท่านดูได้แล้ว
สำหรับการตรวจเช็คที่นิยมทำกันมาเนิ่นนาน ก็คือ การกดตัวรถเพื่อทดสอบการเต้นขึ้น-ลงของตัวรถ วิธีการก็แสนจะง่าย ถ้าเราจะทดสอบโช้คอัพด้านหน้ารถ เราก็กดตัวรถบริเวณฝากระโปรงหน้าหรือสันบังโคลน โดยหาจุดที่แข็งแรงหน่อย ใช้แรงกดให้รถยุบตัวลงมากเท่าที่จะทำได้แล้วปล่อยมือ ให้รถเด้งตัวขึ้นอย่างอิสระ ถ้าโช้คอัพยังอยู่ในสภาพดี รถต้องเด้งตัวขึ้นแล้วหยุด แต่ถ้ามีอาการเด้งขึ้นเด้งลงสองสามครั้งกว่าจะหยุด ก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโช้คอัพน่าจะ “กลับบ้านเก่า” หรือเสื่อมสภาพมากแล้ว ส่วนก็ทดสอบโช้คอัพด้านท้ายรถก็กระทำในลักษณะเดียวกับด้านหน้ารถ
อย่างต่อมาต้องอาศัยการมองและประสาทสัมผัส การมองก็คือ ก้มลงไปดูว่าโช้คอัพที่ติดตั้งอยู่นั้น มีลักษณะบิด คดงอ หรือมีน้ำมันของโช้คอัพไหลเยิ้มออกมานอกตัวโช้คอัพหรือไม่? ส่วนการใช้ประสาทสัมผัสก็คือ หลังจากที่ขับรถผ่านถนนที่ขุรขระมาได้ระยะหนึ่ง เอามือไปแตะที่กระบอกโช้คอัพตัวล่างว่า เกิดความร้อนขึ้นหรือไม่ เพราะโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว เวลาที่โช้คอัพทำงานตามปกติซักระยะหนึ่ง จะเกิดความร้อนขึ้นจากการทำงานของระบบภายในตัวโช้คอัพ ดังนั้น โช้คอัพที่ดีจึงควรเกิดความร้อนขึ้นที่กระบอกโช้คอัพตัวล่างในขณะทำงาน
และถ้ารถยนต์ของท่านมีอาการอย่างที่ว่ามา ก็ควรตรวจสอบด้วยตนเองก่อนนะ ถ้าไม่แน่ใจก็ส่งให้ช่างเขาจัดการตามหลักการช่างอย่างถูกวิธีจะดีกว่า