ความยั่งยืน

เขื่อน ภัทรดนัย-ซานจู Sati App กับความสำคัญของ 'พื้นที่ปลอดภัย' ของใจ

7 ต.ค. 66
เขื่อน ภัทรดนัย-ซานจู Sati App กับความสำคัญของ 'พื้นที่ปลอดภัย' ของใจ

เจอคุณ ‘เขื่อน ภัทรดนัย’ ที่ไหน เราก็จะรู้สึกได้ถึงพลังบวก และ ‘พื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone)’ ของใจ พร้อมกับแถวแฟนคลับที่ต่อคิวขอกอดรับพลังบวกนี้ทุกครั้ง จะดีแค่ไหน หากเราทุกคนมี ‘พื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง’

 

279461



ในช่วงการเสวนาเรื่อง ‘จุดพักใจ พื้นที่แห่งการฟัง’ บนเวที Talk Stage ของงาน Sustainability Expo 2023 คุณ เขื่อน ภัทรดนัย และคุณซานจู อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Sati App แพลคฟอร์มเชื่อมต่อผู้ที่มีความเศร้า ความเครียด เข้ากับอาสาสมัครที่จะมาช่วยรับฟังและบรรเทาความรู้สึกเหล่านั้นลง ทั้งคู่ได้มาร่วมแบ่งปันความสำคัญของการหาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองให้เจอ

โดยทั้งสองคนได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับสังคมผ่านบทบาทที่แตกต่างกัน คุณเขื่อนได้มอบ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ซึ่งเป็นบริการฟรี ที่จะให้ผู้ที่มีเรื่องรบกวนหัวใจ ทั้งความเศร้า ความเหงา ความเครียด ฯลฯ ที่ไม่คนรอบตัวพร้อมจะรับฟังอย่างเข้าใจ นำมาเล่าให้กับคุณเขื่อน ซึ่งอาสาเป็นจุดพักใจให้กับผู้คนเหล่านั้น ในขณะที่แอปพลิเคชัน Sati App ของคุณซานจูนั้น ทั้งเชื่อมต่ออาสาสมัครเข้ากับผู้ที่มีเรื่องทุกข์ใจ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแบบเคลื่อนที่ รวมถึงให้ความรู้ด้านการดูแลและปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น ไว้ให้ผู้ที่อยากจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับสังคม

 

905850



คุณเขื่อนเล่าว่า ในสังคมที่วุ่นวายอย่างทุกวันนี้ การหาคนระบายให้ฟัง ฟังแบบตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่ชิงให้คำแนะนำ ว่ายากแล้ว การปล่อยให้ตัวเองรู้สึก แสดงอารมณ์ออกมา กลับเป็นเรื่องยากกว่า เพราะกติกาสังคมค่อนข้างบีบให้เราเก็บความรู้สึกเอาไว้ แม้แต่คนที่เข้ามาใช้บริการพื้นที่ปลอดภัยของคุณเขื่อนเคสหนึ่ง ระบายความในใจและเผลอร้องไห้ออกมา ก็มาขอโทษขอโพย ที่อาจทำให้คุณเขื่อนรู้สึกไม่ดี แต่จริงๆ แล้วการร้องไห้ออกมาเป็นเรื่องดีต่อหัวใจ และเป็นให้ตัวเองตัวเองได้รู้สึกโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร

นอกจากนั้นอีกกับดักที่คนไทยมักเป็นคือการเข้าใจว่า คนที่บ้าน คนรัก และหรือคนใกล้ตัว จะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันได้ แต่อันที่จริงแล้ว พวกเขาก็อาจมีเรื่องทุกข์ใจที่ยังแก้ไขไม่ได้ หรือไม่ได้มีทักษะในการฟังเชิงรุก (Active Listening) ฟังอย่างไม่ตัดสินใจ ฟังเพื่อจะเข้าใจ และอาจกลายเป็นเราที่รู้สึกแย่ลงเมื่อไปเล่าให้เขาฟัง คุณเขื่อนจึงสนับสนุนให้ทุกคนหาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองให้เจอว่าเป็นใคร รับฟังเราแบบไหน เพราะหากหาเจอแล้ว จะดีต่อตัวเรา และอยู่กับตัวเราไปอีกนาน
 

 

162465

 

ด้านคุณซานจู ย้อนถึงสาเหตุที่ก่อตั้ง Sati App ขึ้นมา จากเหตุการณ์ที่ตนเคยเป็นโรคซึมเศร้า เข้ารับการรักษาหลายขนาน และเคยพยายามจบชีวิตด้วยตัวเองถึง 2 ครั้ง และโดยในครั้งที่ 2 แม้จะมีช่วงที่ได้สติ และพยายามติดต่อสายด่วนป้องกันการเข้าตัวตายได้ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ เมื่อออกจากโรงพยาบาลออกมา จึงคิดอยากที่จะสร้างพื้นที่ที่พร้อมรับฟังผู้คน ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นการมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย แม้เรื่องเล็กๆ เรื่องเครียด เรื่องทุกข์ใจ ก็สามารถมาใช้บริการพื้นที่ตรงนี้ได้

คุณซานจูเผยข้อมูลจาก Sati App ว่าคนที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มที่มีความคิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ เรื่องควาามสัมพันธ์ และเรื่องการเงิน ซึ่งตรงกับสถิติจากกรมสุขภาพจิต ‘พื้นที่ปลอดภัย’ จะเป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาความทุกข์ ความเครียด ไม่ให้พัฒนาต่อไปจนกลายเป็นความคิดค่าตัวตายได้

นอกจากนี้ พื้นที่ปลอดภัย นอกจากจะเป็นคนที่ช่วยรับฟังแล้ว ยังอาจเป็นสถานที่ที่เราสบายใจ และเป็นตัวเองได้เต็มที่ อย่างเช่น ที่ปลอดภัยส่วนตัวของคุณซานจูคือ ‘รถยนต์’ เพราะในห้องโดยสารเล็กๆ นี้ เขาสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ อยากเปิดเพลงอะไรก็ได้ อยากร้องไห้ก็ได้ ไม่มีแรงกดดัน หรือการตัดสินจากสังคมภายนอก

 

 

695175


 

การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ใครสักคนแม้จะมีคุณค่ามาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้อย่างถูกต้อง คุณเขื่อนแนะนำว่า ง่ายที่สุด เราทำได้โดยการ ‘รับฟังด้วยหัวใจ’ ฟังโดยไม่สอดแทรก ไม่เสนอแนะ ไม่ให้คำตอบ ไม่ให้ความคิดเห็น และอาจใช้การถามเพื่อขยายให้อีกฝ่ายได้เล่า และทำความเข้าใจเรื่องนั้นต่ออย่างลึกซึ้งมากขึ้น ด้านคุณซานจูแนะนำ 3 วิธีที่จะช่วยบรรเทาจิตใจของคนใกล้ตัวได้ด้วยกันฟัง คือหลัก ‘3 ส’ ได้แก่

 

  1. สอดส่องมองหา : มองหาความผิดปกติ สิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ หรืออาการที่ผิดแปลกไปของคนใกล้ตัว เผื่อว่าเขากำลังต้องการที่พักใจ หรือการรักษา จะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที
  2. ใส่ใจรับฟัง : เมื่ออยู่ในบทบาทของพื้นที่ปลอดภัย เราก็พึงรับฟังคู่สนทนาด้วยหัวใจ ไม่ตัดสิน ซึ่งเป็นการฟังเพื่อช่วยเหลือจิตใจอีกฝ่ายได้อย่างดีที่สุด
  3. ส่งต่อรักษา : หากรับรู้ว่า การฟังอย่างเดียวอาจไม่สามารถบรรเทาความทุกข์ใจที่อีกฝ่ายแบกไว้ได้ หรือมีอาการที่อาจต้องได้รับการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ ก็ควรที่จะส่งต่อไปยังนักจิตบำบัด หรือคุณหมอที่เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อให้อีกฝ่ายได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที และถูกวิธี

 
 



สุขภาพจิต ความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านจิตใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรามีแรงไปทำหน้าที่ในการเปลี่ยนโลกได้ และการรู้เท่าทันสภาพจิตใจตัวเอง พร้อมมี ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ไว้คอยช่วยประคับประคองในวันที่ใจสะดุด ก็จะเป็นการดูแลให้สุขภาพจิตใจของเรามีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

 



ร่วมฟัง Talk และเสวนาด้านความยั่งยืนในทุกมิติ จากบุคคลสำคัญในแต่ละแวดวง ทั้งระดับชาติ และระดับโลก ชมมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมเอร็ดอร่อยกับอาหารจากเชฟชื่อดัง และร้านอาหารทั่วฟ้าเมืองไทย ภายใต้แนวคิดของความยั่งยืนได้ ในงาน "Sustainability Expo 2023" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันนี้ - 8 ต.ค. 66

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT