ความยั่งยืน

'COP27' เริ่มแล้ว นานาชาติร่วมหารือเรียกร้องเงินชดเชยจากชาติร่ำรวย

7 พ.ย. 65
'COP27' เริ่มแล้ว นานาชาติร่วมหารือเรียกร้องเงินชดเชยจากชาติร่ำรวย

นานาชาติตกลงยกเรื่อง “การเรียกร้องเงินชดเชยค่าเสียหายจากภาวะโลกร้อนจากชาติร่ำรวย” เป็นประเด็นหลักในการประชุม “COP 27” หรือ “การประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่เมืองชาร์ม เอล เชค ประเทศอียิปต์ 

นับเป็น ‘ครั้งแรก’ ที่ทั้งโลกให้ความสำคัญกับการกดดันให้ประเทศพัฒนาแล้ว ในฐานะตัวการทำโลกร้อนรายใหญ่ของโลก แสดงความรับผิดชอบต่อประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวน หลังเป็นหัวข้อที่ถูกประเทศใหญ่ๆ ปัดตกมามากกว่า 26 ปี

000_32mx4vm

 

 

ประเทศร่ำรวยเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ประเทศยากจนกลับเป็นผู้รับกรรม

ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ว่าทุกคนบนโลก และทุกประเทศมีส่วนร่วมในการสร้างภาวะสภาพอากาศแปรปรวน (climate change) ในความเป็นจริง ประเทศยากจนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศร่ำรวยกลับได้รับผลกระทบที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ 

จาก Global Climate Risk Index ปี 2021 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนมากที่สุด 10 อันดับ ในช่วงปี 2000-2019 หากนับจากระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ และจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ ล้วนแต่เป็นประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนา โดย 3 อันดับแรกคือ เปอร์โตริโก, พม่า และ เฮติ 

ส่วน ‘ประเทศไทย’ มาอยู่ในอันดับที่ 9 โดยพบความเสียหายทางเศรษฐกิจไปทั้งหมด 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.9 แสนล้านบาท และเกิดเหตุภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกรวนไปทั้งหมด 149 ครั้ง

หรือในปีนี้เอง ประเทศที่น่าจะเสียหายจากภัยพิบัติมากที่สุดก็คือ ปากีสถาน ที่ถึงแม้จะเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลก กลับต้องเจออุทกภัยหนัก จนต้องแบกความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.12 ล้านล้านบาท

ในขณะที่ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 3 อันดับของโลก คือ จีน ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 30% ของโลก, สหรัฐอเมริกา ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 15% ของโลก และ อินเดีย ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 7% ของโลก กลับไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกรวนอย่างมีนัยสำคัญ

istock-116025626

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในขณะที่ประเทศร่ำรวยเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ประเทศที่ต้องรับกรรมจากก๊าซเหล่านั้นมากที่สุดกลับเป็นประเทศยากจนที่ไม่ได้มีส่วนในการทำให้โลกร้อนมากนัก 

และจากความไม่เท่าเทียมนี่เอง ประเทศกำลังพัฒนา รวมไปถึงประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนเป็นอันดับแรกๆ อย่างประเทศหมู่เกาะจึงได้รวมตัวเรียกร้องกดดันให้ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบ 

 

เรียกร้องมากว่า 26 ปี แต่เพิ่งได้รับการตอบรับ

ถึงแม้ปีนี้จะเป็นปีแรกที่นานาชาติรับประเด็นนี้เป็นหัวข้อหลักในการประชุม COP การเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายเงินชดเชยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นหัวข้อที่ประเทศกำลังพัฒนาเสนอขึ้นมาตั้งแต่มีการประชุม COP ครั้งแรกเมื่อปี 1995 แล้ว และก็ถูกประเทศร่ำรวยปัดตกมาตลอดจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีแผนหรือข้อผูกมัดจริงจังให้ประเทศร่ำรวยเหล่านี้กระทำตามข้อเรียกร้อง

โดยในการประชุม COP26 ปีที่แล้วที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ประเทศกำลังพัฒนาก็ได้รวมตัวยื่นข้อเสนอเพื่อจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจ่ายเงินชดเชยนี้โดยเฉพาะ แต่ก็ถูกประเทศรายได้สูงอย่าง สหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรป กีดกันไม่ให้เกิด โดยเสนอให้มีการพูดคุยระยะยาว 3 ปี เพื่อตกลงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยนี้แทน

ในปัจจุบัน มีเพียง 2 ประเทศเล็กๆ เท่านั้นที่เสนอจะจ่ายเงินชดเชยประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นกิจลักษณะ นั่นก็คือ ‘สกอตแลนด์’ ที่สัญญาว่าจะให้เงินจำนวน 2 ล้านยูโร หรือราว 74 ล้านบาท และ ‘เดนมาร์ก’ ที่สัญญาจะให้เงินจำนวน 100 ล้านโครนเดนมาร์ก หรือราว 500 บ้านบาท เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนา

 

ที่มา: Reuters, CNBC, The Guardian, CNN, Germanwatch 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT