การเงิน

ตลท. เผยแผนปี 67-69 เน้นเปิดเผยข้อมูล ใช้ AI ช่วยจับการซื้อขายผิดปกติ ป้องกันมิจฉาชีพ

19 ม.ค. 67
ตลท. เผยแผนปี 67-69 เน้นเปิดเผยข้อมูล ใช้ AI ช่วยจับการซื้อขายผิดปกติ ป้องกันมิจฉาชีพ

ตลาดหลักทรัพย์เผยแผนการดำเนินงานสำหรับปี 2567-2569 เน้นเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเพิ่มศักยภาพและความน่าดึงดูดของบริษัทจดทะเบียนไทย ด้วยการทำแพลตฟอร์มเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ใช้ AI เข้ามาช่วยป้องปรามการกระทำผิด และสนับสนุนให้บริษัทใน New Economy ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากยิ่งขึ้น

ในวันนี้ (19 ม.ค.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เผยแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2567-2569) แก่สื่อมวลชน มุ่งสร้างตลาดทุนไทยที่มีคุณภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Delivering Market Quality x Growth) ใน 3 ด้านหลัก คือ การยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน การเสริมศักยภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์  “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone”

โดยในปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ไทยต้องเจอความท้าทายมากมายในการกำกับดูแลให้ตลาดทุนมีความโปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งจากกรณีหุ้น MORE หุ้น STARK และกรณีสงสัยที่จะมีการ Naked Short Selling ในตลาด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากมายเพื่อพัฒนาให้ตลาดหุ้นไทยมีความปลอดภัยสำหรับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น

s__5742940

ปี 66 ปีแห่งบทเรียน นำไปสู่การยกระดับตลาดหุ้นไทย

นาย ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มดำเนินการเพื่อยกระดับและรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์แล้ว โดยการเริ่มใช้ระบบซื้อขายใหม่ รวมทั้งระบบเผยแพร่ข้อมูลซื้อขาย และระบบกำกับการซื้อขาย รวมไปถึงเพิ่มการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ ใน 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. การเข้าจดทะเบียน (Listing) โดยการเพิ่มคุณสมบัติบริษัทจดทะเบียนไม่ว่าจะด้วยวิธี New Listing, Backdoor Listing รวมถึงการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trading) จากการเข้าเหตุที่อาจถูกเพิกถอน ที่จะต้องผ่านการพิจารณาในลักษณะเดียวกัน จากปัจจุบันที่ Backdoor Listing ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของ ก.ล.ต.
  2. การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน (Ongoing Obligations) โดยการเพิ่มสัญญาณเตือนให้ผู้ลงทุน ด้วยการขึ้นเครื่องหมาย C บริษัทที่มีรายได้น้อย ขาดทุนติดต่อกันหลายปี ผิดนัดชำระหนี้ ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน และมีฟรีโฟลทน้อย
  3. การตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ (Trade Surveillance) และการศึกษาแนวทางจัดตั้ง “Securities Bureau” ซึ่งจะเปิดเผยสถานะการเงินของลูกค้าแต่ละคน เช่น วงเงินโดยรวมของทุกสมาชิก ทำให้โบรกเกอร์สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของตนได้ดีขึ้น
  4. กระบวนการเพิกถอน (Delisting) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่มเหตุในการถูกเพิกถอน และความเข้มงวดการกำกับดูแลบริษัทที่เข้าเหตุดังกล่าว
  5. กระบวนการเตือนภัยนักลงทุน (Escalation to Public) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่มเหตุของการเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย C (Caution) และอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเติมในการแยกเครื่องหมาย C ตามเหตุที่แตกต่างกันที่จะช่วยบ่งบอกถึงความเข้มข้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังเร่งสร้างโอกาสในการระดมทุนและลงทุน และยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความน่าดึงดูดให้กับบริษัทจดทะเบียน ด้วย

  • การสร้าง ESG Data Platform เพื่อสนับสนุนการเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูล ESG โดยปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมแล้วทั้งหมด 658 บริษัท หรือประมาณ 74% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด
  • การสร้าง ESG Ecosystem ด้วยการจัดทำคู่มือการใช้สัญญามาตรฐานสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแก่บริษัทจดทะเบียน รวมไปถึงการสร้าง ESG partners ทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ

 

ปี 67-69 เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยด้วย Open Data ใช้ AI ช่วยตรวจสอบ

สำหรับปี 2567-2569 แผนกลยุทธ์การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ประกอบไปด้วย 3 ประสงค์หลักด้วยกันคือ

1. การยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน ผ่านการพัฒนาเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์และติดตามคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งรวมไปถึง

  • การจัดทำระบบหรือแพลตฟอร์ม Financial Data Health Check เพื่อติดตามสถานะทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องเข้าไปอ่านงบการเงินแยกเป็นรายบริษัท
  • การจัดทำระบบ Surveillance Prevention and Analytics (SPA) ซึ่งเป็นการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขายและเตือนผู้ลงทุนเมื่อเกิดความผิดปกติ
  • การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจจับข่าวปลอมหลอกลงทุนที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อเตือนผู้ลงทุนผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายงานไปยัง Anti-Fake News Center ในการดำเนินการเตือนสาธารณชนต่อไป
  • การพัฒนาระบบที่จะแจ้งไปยังผู้ประกอบการสื่อโซเชียลในการนำข่าวปลอมออกและปิดเพจปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่มากขึ้น คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 
  • การร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียน และนำมาใช้ประมวลผลได้อย่างรวดเร็วขึ้น 

2. การเสริมศักยภาพการแข่งขัน เพื่อเพิ่มความน่าสนใจดึงดูดการลงทุนทั้งด้านการระดมทุนและการลงทุน และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนตามมาตรฐานระดับโลก พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ร่วมตลาดทุน โดยแบ่งเป็น 2 ด้านคือ

  • Supply side ผ่านการสนับสนุนบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Target industries) เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร โดย
    • การนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งบริษัทที่จะระดมทุนและบริษัทจดทะเบียน เช่น One Report และ Digital IPO System และสนับสนุนการทำงานของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง 
    • การพัฒนา LiVE Platform ให้ผู้ประกอบการ SMEs / Startups สามารถเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และเข้าใช้งานง่าย และการเพิ่มความน่าสนใจของบริษัทจดทะเบียนเพื่อดึงดูดผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศผ่านการทำ In-bound / Out-bound roadshow 
  •  Demand side ผ่านการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละกลุ่ม (More Choice) โดย
    • การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้ลงทุนรุ่นใหม่ เช่น Small Size Thai Share รวมถึงสภาวะตลาดเพื่อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยง เช่น Inverse ETF 
    • การเตรียมพร้อมขยายระยะเวลาการซื้อขายหลักทรัพย์ ปรับปรุงการพัฒนาดัชนีใหม่ ๆ การทำให้การเข้าถึงตลาดทุนเป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (More Streamline) ทั้งการเปิดบัญชีซื้อขายที่สะดวกรวดเร็ว และพัฒนาช่องทางที่เข้าถึงการลงทุนที่ง่ายขึ้นและรองรับการซื้อขายสินทรัพย์ที่หลากหลาย
    • การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชนในวงกว้างผ่านโครงการต่างๆ พร้อมให้ความรู้เชิงลึกเพื่อเพิ่มทักษะแก่ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน 

3. สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนตลาดทุนครอบคลุมมิติ ESG พร้อมสนับสนุนเป้าหมายของประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงาน SET สู่เป้าหมาย Net Zero โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

  • ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) โดย SET จะมุ่งให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการ SET ESG Academy และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ESG ผ่านโครงการ Climate Care Collaboration Platform และ SET Carbon ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจาก ESG Data Platform และร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการยกระดับ SET ESG Assessment สู่มาตรฐานระดับโลก 
  • ด้านสังคม (Social)  โดยจะมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) และธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)  โดยเชื่อมโยงธุรกิจครอบครัวสู่ LiVE Platform ให้มากขึ้น รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ด้านการลงทุนให้กับกลุ่ม Multi-jobber & Freelance 
  • ด้านบรรษัทภิบาล (Governance) โดยจะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุนและการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และสนับสนุนให้มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน 

ขณะเดียวกัน กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้าน ESG ภายในองค์กรอย่างเข้มข้น เช่น การต่อยอดโครงการ SET’s Journey Towards Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Organization การพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Culture transformation)  พร้อมกับการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ (Risk management & Enhancing governance) 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT