การเงิน

ส่องตลาดหุ้นทั่วโลกปี 2023 ดาวรุ่ง ‘สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-อินเดีย’ ดาวร่วง ‘ไทย-จีน’

30 ธ.ค. 66
ส่องตลาดหุ้นทั่วโลกปี 2023 ดาวรุ่ง ‘สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-อินเดีย’  ดาวร่วง ‘ไทย-จีน’

ปี 2023 จบไปแล้วสำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่ทั้งโลกเตรียมตัวนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงในอีกสองวันนี้ ซึ่งเมื่อดูจากผลงานในช่วงปลายปีแล้ว นับว่าเป็นปีที่ดีและแย่สำหรับบางตลาด ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการทำธุรกิจและความน่าดึงดูดของบริษัทจดทะเบียนในแต่ละตลาด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัจจัยภายนอกต่างๆ อย่าง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบกับแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน

ในโอกาสปีใหม่ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูกันว่าตลาดหุ้นทั่วโลกปีนี้ทำผลงานเป็นอย่างไรกันบ้าง ตลาดไหนเป็นดาวรุ่ง ตลาดไหนเป็นดาวร่วง รวมไปถึงแนวโน้มการลงทุนในปี 2024 ว่ามีหุ้นหรืออุตสาหกรรมใดที่น่าเติบโตได้ดีในอนาคตบ้าง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่นผลงานดี เหนือการคาดการณ์

หากใครยังจำได้ ในช่วงปลายปี 2022 และช่วงต้นปี 2023 นักวิเคราะห์หลายเจ้าคาดการณ์กันว่าในปี 2023 ตลาดหุ้นจะซบเซาเพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้น ผู้บริโภคและนักลงทุนมีกำลังซื้อลดลง 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นส่วนมากในโลกเติบโตสวนทางการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้มแข็งและยืดหยุ่นกว่าคาด โดยในขณะที่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจริง 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม จาก 4.50-4.75% มาเป็น 5.25-5.50% รายได้และตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง ประชาชนยังมีกำลังในการใช้จ่าย และเศรษฐกิจโดยรวมยังเติบโตได้ดี

ในปี 2023 ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 959.21 จุดหรือ 25.08% จากช่วงต้นปีมาปิดที่ 4,783.35 จุด ขณะที่ดัชนี NASDAQ ขึ้น 4,708.15 จุด หรือ 45.33% จากช่วงต้นปีมาอยู่ที่ 15,095.14 จุด สะท้อนว่าหุ้นสหรัฐฯ ทำผลงานได้ดีในปีนี้ โดยเฉพาะ “หุ้น 7 นางฟ้า” หรือที่สื่อต่างชาติเรียกกันว่า “Magnificent 7” ได้แก่ Apple (AAPL), Amazon (AMZN), Alphabet (GOOG, GOOGL), Nvidia (NVDA), Meta Platforms (META), Microsoft (MSFT) และ Tesla (TSLA) ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์, ชิป และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 

จากการรายงานของ The Guardian มูลค่าของหุ้น 7 ตัวนี้เพิ่มขึ้นถึง 74% ในปีนี้ และน้ำหนักของหุ้นกลุ่มนี้ยังคิดเป็นถึง 17.2% ของดัชนี MSCI All Country World Index (ACWI) ซึ่งเป็นดัชนีที่รวมหุ้นขนาดใหญ่และกลางเกือบ 3,000 ตัวจาก 23 ตลาดใหญ่ และ 24 ตลาด Emerging Markets ทั่วโลก เกือบเท่ากับน้ำหนักของหุ้นจาก 5 พื้นที่คือ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และแคนาดา รวมกัน ซึ่งอยู่ที่ 17.3%

การเติบโตของหุ้นกลุ่มนี้ทำให้ในปัจจุบัน น้ำหนักหุ้นสหรัฐฯ คิดเป็นถึง 63% ของดัชนี ACWI ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วจนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้ในช่วง 1980s - 1990s น้ำหนักหุ้นญี่ปุ่นยังคิดเป็นเพียง 44% ของดัชนีนี้

ทั้งนี้ นอกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้ว อีก 2 ตลาดที่ทำผลงานได้ดีในปีนี้คือ ‘ญี่ปุ่น’ เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ยังมีสภาพคล่องสูง และ ‘อินเดีย’ ซึ่งเป็นตลาดที่ได้เปรียบทั้งในด้านจำนวนและอายุประชากร ศักยภาพในการบริโภคและผลิต และความสามารถในการวางตัวเป็นกลาง ทำให้หลายๆ ประเทศเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิต หรือลงทุนทำธุรกิจในประเทศ

ในปี 2023 ดัชนี Nikkei 225 เพิ่มขึ้นถึง 7,747.31 จุด หรือ 30.13% จากช่วงต้นปี มาปิดที่ 33,464.17 จุด ขณะที่ ดัชนี S&P BSE 500 เพิ่มขึ้ยถึง 5,998.24 จุด หรือ 24.26% จากช่วงต้นปี มาปิดที่ 30,720.28 จุด

585145

 

จีน-ไทย กอดคอร่วง หุ้นไม่ดึงดูด ศก. ฟื้นไม่ตามเป้า

ตรงข้ามกับทั่วโลก ตลาดหุ้นจีนและไทยกลับทำผลงานได้ไม่ดีนักในปีนี้ ทั้งจากสถานการณ์ภายในและนอกประเทศ เพราะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมาใช้จ่าย

ในปีนี้ จีนเจอปัญหาเศรษฐกิจมากมาย ทั้งปัญหาเงินฝืดซึ่งเกิดจากการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย ไม่มีการลงทุน ภาคผลิตและการส่งออกก็ซบเซาลงเพราะเศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอทำให้มีดีมานด์สำหรับสินค้าลดลง รวมไปถึงวิกฤตสภาพคล่องและปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีนเพราะภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์เคยเป็นภาคส่วนใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนทางด้านของหุ้นไทย ประสบปัญหาหลายประการทั้งปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วงต้นปี ปัญหาความไม่ชัดเจนด้านนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบาย Digital Wallet ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะสร้างปัญหาหนี้ให้กับประเทศ รวมไปถึงการขาดหุ้นน่าดึงดูด เช่น หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เทขายหุ้นไทยไปซื้อหุ้นประเทศอื่นที่มีศักยภาพในการเติบโตและทำกำไรมากกว่า

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยในปีนี้ยังฟื้นไม่ตามคาด เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาใช้จ่ายในประเทศไทยอย่างเต็มที่ และยังเจอเหตุการณ์กราดยิงพารากอนในต้นเดือนตุลาคมที่ทำให้นักท่องเที่ยวลังเลที่จะมาเที่ยวไทยมากขึ้นไปอีก

โดยจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2023 พบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด 24,838,066 คน เป็นนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด 3,095,154 คน ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นมากจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2022 แต่ก็ยังห่างไกลจากสถิติที่เคยทำได้ในช่วงปี 2019 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 40 ล้านคน ทำให้มีการปรับประมาณการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2024 จาก 35-40 ล้านคน มาเหลือเพียง 30-35 ล้านคน

ในปี 2023 ดัชนี SET ปิดที่ 1,415.85 จุด ลดลง 252.81จุด หรือ 15.15% จากต้นปี ขณะที่ดัชนี Shanghai Composite ปิดที่ 2,974.93 จุด ลดลง 141.58 จุก หรือ 4.54% จากต้นปี

 

ปีหน้าคาดเฟดลดดอกเบี้ย หนุนหุ้นขึ้น เทคฯ ยังมาแรง

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าตลาดหุ้นจะค่อนข้างสดใสในปีหน้า เพราะคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2024 หลังอัตราเงินเฟ้อลดลงมาเหลือ 3.1% แล้วในปีนี้ และจะมีการ soft landing หรือการที่เงินเฟ้อลดลงได้โดยที่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

Nigel Green ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ deVere Group กล่าวว่า หุ้นบางกลุ่มจะได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของเฟด เช่น หุ้นปันผล (diveidend stocks) ขณะที่หุ้นหรือสินทรัพย์ที่เคยได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ย เช่น หุ้นของธนาคาร มีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าลดลง

นักวิเคราะห์จากวอลสตรีทมองว่า ดัชนี S&P 500 จะขึ้นไปได้ถึงเฉลี่ย 5,068 จุดในปีหน้า หรือประมาณ 6% จากปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs มองว่าจะขึ้นไปได้ถึง 5,100 จุด เพราะมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยถึงสามรอบในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ทำรายได้และกำไรได้มากขึ้นตามไปด้วย

โดยจากความเห็นของ Forbes Advisor หุ้นที่จะทำผลงานได้ดีในปีหน้าคือหุ้นเทคโนโลยี และหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับ AI รวมไปถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางอากาศและสงคราม ซึ่งจะได้รับแรงบวกจากสงครามระหว่างรัสเซียยูเครน และอิสราเอลฮามาสที่ยังไม่จบ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่าในปีหน้ายังมีความเสี่ยงสำหรับตลาดหุ้นอยู่ เช่น JPMorgan Chase ที่มองว่า ในปีหน้าผู้บริโภคจะเริ่มมีกำลังซื้อลดลงเพราะมีเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายลดลง นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลให้เฟดอาจตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายตามไปด้วย

ทั้งนี้  JPMorgan Chase มองว่าตลาดเอเชียน่าจะยังเติบโตได้ดีในปีหน้า เช่น ตลาดญี่ปุ่น และ อินเดีย ที่ยังมีแรงหนุนจากสภาพคล่อง และศักยภาพในการผลิตและบริโภค

ส่วนทางด้านของประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัสมองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีในปีหน้าจากาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่กำลังจัออกมาในปีหน้า และมองว่า กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ของบริษัทจดทะเบียนไทยจะเพิ่มขึ้น 12.6% ในปีหน้า และอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้ดีคือ พลังงาน เกษตรกรรม การท่องเที่ยว อาหาร การขนส่ง และการสื่อสาร 

ดังนั้น เอเชียพลัสจึงแนะนำให้นักลงซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดี ศักยภาพในการทำกำไรที่ดี และมีหลักปฏิบัติด้าน ESG ที่ดีอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น CK, GULF, CRC, BEM, CPALL, MINT, KBANK, HMPRO, BBL, CPN, INTUCH, ADVANC และ TISCO





อ้างอิง: The New York Times, Forbes, The Guardian, JP Morgan Chase

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT