ข่าวเศรษฐกิจ

จีนเงินฝืดหนัก ราคาสินค้าร่วงมากสุดใน 3 ปี ประชาชนไม่ใช้จ่าย คาดศก. ซบเซายาวถึงปีหน้า

11 ธ.ค. 66
จีนเงินฝืดหนัก ราคาสินค้าร่วงมากสุดใน 3 ปี ประชาชนไม่ใช้จ่าย คาดศก. ซบเซายาวถึงปีหน้า

จีนกำลังเจอปัญหาเงินฝืดอย่างหนัก ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลง 0.5% ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ลดลงมากที่สุดในรอบสามปี ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 3% สะท้อนสภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังคงซบเซาเนื่องจากประชาชนไม่ใช้จ่าย ผู้ผลิตได้รับคำสั่งผลิตลดลง

สวนทางกับในประเทศอื่นๆ ที่ธนาคารกลางต้องออกมาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีนกลับเจอภาวะเงินฝืดขนาดหนัก เพราะแม้จะเปิดประเทศแล้ว ประชาชนจีนก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ เลือกที่จะรัดเข็มขัดไม่ใช้จ่าย ขณะที่ยอดซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังตกต่ำ เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทอสังหาฯ ที่กำลังเจอปัญหาสภาพคล่อง ว่าจะสามารถสร้างบ้านที่อยู่อาศัยได้ตามกำหนด

จากคำแถลงการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน CPI ซึ่งวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคลดลง 0.5% ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2020 และลดลงมากกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งอยู่ที่ -0.2%

ขณะที่ PPI ซึ่งวัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าสำหรับผู้ผลิต ลดลง 3% ในช่วงเวลาเดียวกัน มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งอยู่ที่ -2.8% และลดลงเป็นเดือน 14 ติดต่อกัน

จากการรายงานของบลูมเบิร์ก สาเหตุที่ทำให้ CPI ลดลงส่วนหนึ่งมาจากราคาเนื้อหมูที่ลดลง เนื่องจากมีผู้ผลิตมากแต่มีการบริโภคน้อยลง และเนื้อเป็นตัวถ่วงใหญ่ของ CPIจีน เพราะเป็นสินค้าที่คนจีนบริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ 

 

เสี่ยงซบเซายาวถึงปีหน้า คนไม่ยอมใช้จ่าย

ภาวะเงินฝืดในจีนเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนในประเทศมีดีมานด์สำหรับสินค้าต่ำ ไม่ยอมออกมาใช้จ่ายเหมือนที่เคยเป็นมา ทำให้ภาคการผลิตพลอยซบเซาตามไปด้วย เพราะเมื่อไม่มีดีมานด์สินค้า โรงงานก็จะลดการผลิตเพื่อลดการเพิ่มซัพพลายตามไปด้วย

จากความเห็นของ Bloomberg Economics ภาวะเงินฝืดนี้น่าจะลากยาวไปจนถึงอย่างน้อยครึ่งแรกของปี 2024 เพราะในปัจจุบันจีนยังไม่มีตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพ เช่น นโยบายทางการเงินของรัฐ เข้ามาช่วยกระตุ้นการบริโภคภายประเทศซึ่งปัจจุบันเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักได้

นักวิเคราะห์มองว่าปัญหาเงินฝืดเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจจีน ถ้าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะลดลง และผู้บริโภคอาจจะรอต่อไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าราคาสินค้าจะลดลงอีก ซึ่งจะส่งผลทำให้ทั้งการผลิตและการลงทุนลดลง เพราะนักลงทุนมองว่าดีมานด์ต่ำ และลงทุนตั้งธุรกิจหรือผลิตสินค้าไปก็ไม่คุ้มค่า

นอกจากนี้ ภาวะเงินฝืดยังจะทำให้นโยบายเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อจากนี้มีประสิทธิภาพลดลง เพราะเมื่อราคาสินค้าต่ำลง กำไรและความสามารถในการจ่ายหนี้ของบริษัทเอกชนก็จะลดลงตาม

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ออกมาตรการจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะในภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้วยการลดดอกเบี้ยผ่อนบ้าน การลดเงินดาวน์ การช่วยเหลือด้านภาษี รวมไปถึงการสนับสนุนให้รัฐฐาลท้องถิ่นช่วยรีไฟแนนซ์ลูกหนี้ให้มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิมเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ

ในปีหน้า รัฐบาลจีนกล่าวว่าจะออกนโยบายสนับสนุนด้านการเงินออกมาอีกเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าจะต้องบาลานซ์การเพิ่มการลงทุนและการบริโภคกับการควบคุมระดับหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นให้ดี เพราะการก่อหนี้มากเกินไปก็จะเป็นปัญหาระยะยาวในอนาคต

 

ที่มา: Bloomberg, CNBC

 

advertisement

SPOTLIGHT