ข่าวเศรษฐกิจ

โพลสหรัฐเผย ลูกจ้างหวัง ‘2.3 แสนบาท/เดือน’ ถึงยอมเปลี่ยนงานใหม่

24 ส.ค. 66
โพลสหรัฐเผย ลูกจ้างหวัง ‘2.3 แสนบาท/เดือน’ ถึงยอมเปลี่ยนงานใหม่

เฟดนิวยอร์กเผยผลสำรวจจากค่าตอบแทนที่คาดหวัง หากจะซื้อใจพนักงานให้ย้ายไปที่ทำงานใหม่ พบว่าพุ่งทะลุ 80,000 ดอลลาร์/ปี (2.81 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 2.34 แสนบาทต่อเดือน โดยแนวโน้มค่าจ้างที่พุ่งสูงนี้ มีขึ้นหลังจากที่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ยอมรับได้หากย้ายงาน (Reservation Wage) พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 78,645 ดอลลาร์/ปี (2.75 ล้านบาท) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023

 

istock-1020558732

 

การพุ่งขึ้นกว่า 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนนี้ ตอกย้ำผลกระทบที่เงินเฟ้อมีต่อตลาดแรงงาน และจากเทรนด์ ‘The Great Resignation’ ที่ลูกจ้างตบเท้าแห่ลาออกจากบริษัทในช่วงก่อนหน้านี้ กระตุ้นให้แรงงานมองงาค่าตอบแทนที่ดีขึ้น รวมถึงสภาวะแวดล้อมและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมกว่า ส่งผลให้เกิดการขยับค่าตอบแทนขึ้นราว 7% สำหรับผู้ที่ย้ายงานในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
 

ความต้องการการขึ้นค่าแรงดังกล่าวนี้ อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งถูกเร่งเครื่องโดยการขึ้นค่าจ้างอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จึงเฝ้าระวังการเกิด ‘Wage-price spiral’ หรือปัญหางูกินหางระหว่างของแพง -ค่าแรงพุ่ง ที่เมื่อของแพง จึงต้องขึ้นค่าแรงมาเพื่อให้ประชาชนยังชีพได้ แต่การขึ้นค่าแรงก็ทำให้ต้นทุนสินค้ามีราคาสูง ผลักให้ของแพง เกิดเป็นลูปวนไปไม่จบสิ้น

ก่อนหน้านี้ นาย Jerome Powell ประธานเฟดได้กล่าวเตือนถึงถึงความสำคัญในการรักษาระดับค่าจ้างให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดที่ 2% ซึ่งการควบคุมสมดุลระหว่างค่าจ้างกับราคาสินค้าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อสูง และเลี่ยงไม่ให้เกิดวัฏจักรที่ค่าจ้างที่สูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตผลักภาระมายังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าที่สูงขึ้น

 

istock-1280506989


 

ปัจจุบันนี้ภาพการจ้างงานที่คึกคักในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวเริ่มบางเบาลงไป ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีตำแหน่งงานใหม่ที่เปิดรับโดยนายจ้างทั้งหมด 187,000 ตำแหน่ง นับได้ว่าเป็นการเติบโตน้อยสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งอาจมีผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และเราอาจได้เห็นภาพเช่นนี้ไปอีกสักพัก เนื่องจากเฟดอาจใช้มาตรการคงดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อควบคุมความร้อนแรงของค่าแรงของแรงงานในสหรัฐ

 

ที่มา : New York Post, CNBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT