เข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2566 พร้อมความหวังว่าประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ความชัดเจน คาดว่า กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้แน่นอน หลังจากพรรคแกนนำปัจจุบันอย่างพรรคเพื่อไทย แถลงผลการหารือร่วม 8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมว่า อาจต้องยกเลิกการรวมกันจัดตั้งรัฐบาลจาก 8 พรรคเดิม เพื่อให้พรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จและส่งชื่อคุณเศรษฐา ทวีสิน เข้าไปโหวตในสภาฯ วันที่ 4 ส.ค.2566
สภาพเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลใหม่ต้องเจอมีทั้งสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยที่กำลังเผชิญกับค่าครองชีพสูง ปัญหาหนี้สิน ส่วนภาคธุรกิจชี้การส่งออกไทยกำลังติดลบ อยากมีรัฐบาลใหม่ภายในเดือนสิงหาคมมาดูแล
กกร.พร้อมสนับสนุนรัฐบาลใหม่เต็มที่
เริ่มจากเสียงสะท้อนจาก คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการประจำเดือนสิงหาคม ระบุว่า ที่ประชุมกกร.มีความเป็นห่วงการเมือง และต้องการเห็นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยเร็ว โดยไทม์ไลน์คือควรมีรัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคไหนภาคเอกชนก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าอยู่แล้ว ย้ำ กกร.พร้อมสนับสนุนรัฐบาลใหม่ทุกด้านเต็มที่
ทั้งนี้ กกร. ยังคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ (GDP) ปี 2566 เติบโต 3-3.5% ส่งออกจะติดลบอยู่ที่ 1- 0% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2 % โดยกกร.มองเห็นปัญหาเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง GDP โลกอาจโตเหลือ 3% ตามการประเมินของ IMF ส่วนเศรษฐกิจไทยแม้นักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้มีโอกาสที่จะฟื้นตัวตามคาดที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำอยู่ ส่วนปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด อาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท จึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 66 ถึงครึ่งแรกของปี 67
ข้อเสนอเพิ่มเติมของ กกร. เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน
1.จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็ว เกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร.จึงเสนอให้ คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566
2.ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุน ค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วง พฤษภาคม- สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือน มกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูง กว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้
คนไทยส่วนใหญ่รายได้เดือนชนเดือน ไม่พอเก็บออม
ข้ามมาดูสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในเวลานี้กันบ้าง นี่คือสภาพความเป็นจริงที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน เพราะผลการสำรวจของ กรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจเรื่อง “ความเป็นอยู่ของคนไทยในครึ่งปี แรกของปี 66” กลุ่มตัวอย่าง 1,077 คน พบว่า ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจความเป็นอยู่ของตนเองในครึ่งปีแรกเฉลี่ย 3.07 คะแนน จากเต็ม 5 คะแนน โดยด้านที่มีความพึงพอใจมากที่สุดคือ ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว เฉลี่ย 4.00 คะแนน ขณะที่ด้านที่มีความพึงพอใจน้อยที่สุดคือ ด้านค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เฉลี่ย 2.03 คะแนน
- เมื่อถามถึงสถานการณ์ทางการเงินของท่านในช่วงครึ่งปีแรกเป็นอย่างไร
พบว่า ร้อยละ 40.1 มีรายได้แบบเดือนชนเดือนไม่พอเก็บออม
ร้อยละ 26.1 มีรายได้ไม่เพียงพอต้องหยิบยืม/เงินขาดมือ
ร้อยละ 23.8 มีรายได้เพียงพอ มีเงินออมลดลง/ไม่ได้ตามเป้า
ร้อยละ 10.0 มีรายได้เพียงพอ มีเงินออมตามเป้า - เมื่อถามต่อว่าหมดเงินไปกับเรื่องใดบ้างนอกจากค่าอาหารการกิน พบว่า
ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.6 หมดเงินไปกับค่าเดินทาง/เติมน้ำมัน/เติมก๊าซ
รองลงมาร้อยละ 33.3 เสี่ยงโชค/เล่นหวย/ซื้อลอตเตอรี่
ร้อยละ 32.5 ช้อปปิ้งออนไลน์/ซื้อของออนไลน์ - สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับแรกเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 49.6 เรื่องค่าครองชีพสูง สินค้าราคาแพง
รองลงมาร้อยละ 20.7 เรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวของไทย
ร้อยละ 11.1 เรื่องควบคุมราคาน้ำมัน