ข่าวเศรษฐกิจ

เทียบนโยบายเด่นเพื่อไทย-ก้าวไกล 19 ก.ค. คนไทยจะได้ใครเป็นนายก?

18 ก.ค. 66
เทียบนโยบายเด่นเพื่อไทย-ก้าวไกล 19 ก.ค. คนไทยจะได้ใครเป็นนายก?

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยรอบที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค. หลังจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง ไม่ผ่านการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะคะแนนเสียงไม่ถึง 375 เสียง เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา 

จนถึงตอนนี้ หนทางการเป็นนายกรัฐมนตรีของพิธาก็ยังไม่แน่นอน เพราะนอกจากจะมีปัญหาเรื่องคะแนนเสียงในสภาแล้ว ยังเสี่ยงถูกตัดสิทธิ์หากมีคำวินิจฉัยจากศาสรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีสถานะ ส.ส. ของพิธา และ กรณีการใช้นโยบายการแก้ไข ม.112 ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเสี่ยงทั้งตัวคุณพิธา และ พรรคก้าวไกลด้วย

นี่จึงทำให้ มีการคาดการณ์ว่า สุดท้ายแล้วหนึ่งในแคนดิเดตจากพรรค “เพื่อไทย” พรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดเป็นอันดับ 2  คือ “เศรษฐา ทวีสิน” และ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร” อาจจะเป็นผู้ที่ได้ตำแหน่งนี้ไปก็เป็นได้  เพราะมีข้อได้เปรียบสำคัญคือ “ไม่มีการเสนอแก้มาตรา 112” ซึ่งเป็นประเด็นที่ ส.ส. พรรคตรงข้ามและ ส.ว. หลายท่านนำมาอภิปรายโจมตีหัวหน้าพรรคก้าวไกลอย่างหนัก และใช้เป็นข้ออ้างหลักเพื่อไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกลในวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อวานนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ได้ออกมาแถลงหลังมีการประชุมหารือแล้วว่าในวันที่ 19 ก.ค. นี้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยังคงเสนอชื่อของตนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากโหวตรอบนี้คะแนนไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ หรือเพิ่มร้อยละ 10 คือ 344 เสียง ก็พร้อมที่จะถอยให้พรรคอันดับ 2 ที่อยู่ใน MOU ขึ้นมาเป็นผู้นำ

ก่อนที่จะถึงการโหวตนายกฯ ครั้งประวัติศาสตร์ในวันพรุ่งนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันชัดๆ อีกครั้ง ว่าหากเราได้แคนดิเดตจากพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี เราประชาชนคนไทยจะคาดหวังนโยบายแบบไหนจากทั้ง 2 พรรคได้บ้าง

 

พรรคเพื่อไทย “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” เน้นเพิ่มรายได้ทั่วถึง ไม่ชนทุนใหญ่

มาเริ่มกันที่พรรคพรรคอันดับ 2 “เพื่อไทย” จากแถลงนโยบายด้านเศรษฐกิจในเว็บไซต์ของพรรค หลักการที่เป็นหัวใจในการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทย คือ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” โดยมีเป้าหมายจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP เติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% ผ่านนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในระดับมหภาคหลักๆ หลายนโยบายด้วยกัน เช่น

  1. นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยจะพิจารณาจาก 1) การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 2) ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) และ 3) อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) 
  2. นโยบายเพิ่มให้เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 รวมทั้งข้าราชการ และทำให้ทุกครอบครัว มีรายได้ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท / เดือน
  3. นโยบายสร้าง “เขตธุรกิจใหม่” (New Business Zone – NBZ) 4 แห่งเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ พร้อมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน รวมไปถึงโครงสร้างด้านการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตกำลังคน เพื่อขับเคลื่อน Start-ups และ SMEs ในแต่ละพื้นที่ 
  4. นโยบายสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป พร้อมเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทให้ทุกคน ใช้จ่ายใกล้บ้านภายใน 4 กิโลเมตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรอบ
  5. นโยบาย One Family One Soft Power เพื่อส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยโดยเริ่มต้นจากการ “พัฒนาคน” โดยการเลือกคนอย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ที่จะมีในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ และจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) ขึ้นมาดูแลด้านการบริหารดูแลซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอย่างเป็นระบบ ครบวงจร

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังมีนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านอื่นๆ อีก เช่น 

  1. ด้านสาธารณสุข ที่เพื่อไทยมีนโยบายต่อยอดจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคด้วยการยกระดับโครงสร้างทั้งระบบ ให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย สามารถนัดคิว รักษา และจ่ายยาออนไลน์ได้ รวมไปถึงระดมฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีให้เด็กหญิงอายุตั้งแต่ 9-11 ปีทุกคน และผู้หญิงที่ยังไม่เคยรับเชื้อ HPV
  2. ด้านคมนาคม เช่น นโยบาย “รถไฟฟ้า กทม.” 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้โดยสาร และนโยบายยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเป็นการเดินทางแบบไปกลับประจำ (Commute) ได้อย่างแท้จริง
  3. ด้านการท่องเที่ยว เช่น นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านการแพทย์และสุขภาพมุ่งทำให้ประเทศไทยเป็น “Wellness Destination” ของเอเชีย และนโยบายดันไทยให้เป็น “Festival Hub of Asia” โดยการผลักดันเทศกาลไทยให้มีชื่อเสียงระดับโลก และดึงเทศกาลระดับโลกมาจัดในประเทศไทย เช่น เทศกาลดนตรี เทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงต่างๆ

 untitled-2_4

พรรคก้าวไกล “ทลายทุนผูกขาด” เน้นการพัฒนาอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม 

หันมามองด้านพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 อย่างพรรค “ก้าวไกล” ถึงแม้ทั้ง 2 พรรคมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับเหมือนกัน พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกว่าในเรื่อง “ความเป็นธรรม” และการ “ทำลายทุนผูกขาด” เพื่อทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างเท่าถึงเท่าเทียมในทุกระดับ เพราะมองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และรายได้กระจายไปไม่ถึงผู้ผลิตและผู้ดำเนินธุรกิจรายเล็ก 

นี่ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลเน้นไปที่การเติบโตอย่างเป็นธรรม (Inclusive Growth) โดยชูนโยบาย “เศรษฐกิจโตเพื่อทุกคน” ด้วยการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทั่วถึง โดยมี 3 เป้าหมายหลักคือ 

  1. การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง (Firm Ground) 
  2. การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Game)
  3. การผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่เติบโตไปพร้อมกับซัพพลายเชนโลก (Fast Forward Growth) 

นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยแบ่งเป็น 11 ด้าน รวม 71 นโยบาย และมีนโยบายที่โดดเด่นดังนี้ 

    1. นโยบายทลายทุนผูกขาด เช่น ปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า ทลายทุนผูกขาด และการผลักดัน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสุรารายเล็กเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากนายทุน
    2. นโยบายส่งเสริม SMEs ด้วยการ ‘ลดรายจ่าย’ ผ่านมาตรการด้านภาษีต่างๆ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล SME ให้เหลือ 0-15%  ‘สนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย’ ด้วย “หวยใบเสร็จ” ให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ดำเนินธุรกิจใช้ใบเสร็จซื้อของร้านค้าลุ้นหวยได้ รวมไปถึงการ ‘ขยายตลาด’ ให้ ผ่านการเพิ่มโควตาชั้นวางสำหรับสินค้า SME ในห้างใหญ่ และ ‘ให้ทุน’ ด้วยการให้ทุนแสนตั้งตัว 2 แสนราย/ปี และ ทุนล้านตั้งตัว 2.5 หมื่นราย/ปี ไม่ต้องวางหลักประกัน
    3. นโยบายเศรษฐกิจโปร่งใส ที่จะทำให้อาชีพให้บริการทางเพศ (sex worker) และคาสิโนถูกกฎหมาย ปลดล็อกเซ็กซ์ทอย (sex toy) และหนังผู้ใหญ่ เพื่อเพิ่มการคุ้มครองทางกฎหมายให้ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ รวมไปถึงเปิดช่องทางให้รัฐเก็บภาษีจากธุรกิจเหล่านี้ได้
    4. นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการเน้นคุ้มครองเสรีภาพทางศิลปะ ยกเลิกการเซนเซอร์ เพิ่มความหลากหลายทางศิลปะ ห้ามไม่ให้รัฐแทรกแซง และเพิ่มงบสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 10 เท่า

โดยจะเห็นได้ว่า ในขณะที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายในการขยายเศรษฐกิจอย่างเต็มสูบ และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อเข้าไปแข่งขันในตลาดเสรี โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกับการทำธุรกิจของกลุ่มทุนใหญ่หรือทุนผูกขาด พรรคก้าวไกลมุ่งเน้นช่วยเหลือรายเล็กและจำกัดอำนาจของกลุ่มทุนใหญ่เป็นสำคัญ 

แต่ถึงแม้แคนดิเดตจากพรรคใดจะได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ตาม เป้าหมายร่วมกันของทั้งสองพรรคก็คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยอย่างทั่งถึง และเมื่อร่วมรัฐบาลกันแล้วก็จะมีการพูดคุยเพื่อนำนโยบายเหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้นอีก 

นี่ทำให้สิ่งสำคัญในขณะนี้อาจจะไม่ใช่ว่าใครจะได้เป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่เป็นการทำอย่างไรจึงจะสามารถตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้โดยเร็ว เพราะสิ่งหนึ่งที่ทำร้ายโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยก็คือความล่าช้า และความไม่มีเสถียรภาพของการเมือง ที่จะทำให้เกิด gridlock ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวไปทางไหนได้เลย

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT