ข่าวเศรษฐกิจ

ภาษีความหวานมาแล้ว สูงสุด 5บาท/ลิตร ผู้ผลิตพร้อมปรับสูตร

4 เม.ย. 66
ภาษีความหวานมาแล้ว สูงสุด 5บาท/ลิตร ผู้ผลิตพร้อมปรับสูตร

ภาษีความหวานในประเทศไทยถูผลักดันมานานหลายปีแล้ว การเก็บภาษีจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 เฟส โดยตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมากรมสรรพสามิต ได้เริ่มปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลเป็นเฟสที่ 3 แล้วซึ่งอัตราภาษีที่เก็บจะสูงขึ้นจากในเฟส ที่1 และ 2 มาดูกันว่า อัตราภาษีความหวานในปัจจุบันจะเป็นเท่าไหร่กันบ้าง 

อัตราภาษีความหวาน
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุม กรมสรรพสามิต ระบุว่า  เมื่ออัตราภาษีความหวานได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว หากผู้ประกอบการรายใด ไม่ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิตไม่ลดส่วนผสมจากน้ำตาลลง จะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น  เช่น  เครื่องดื่มที่มีสารความหวาน 10-14 มิลลิกรัมต่อลิตร จะเสียภาษีเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร

ส่วนคนที่เป็นห่วงว่า จะทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทางกรมสรรพสามิตร ชี้แจงว่า ไม่กระทบให้ราคาเครื่องดื่มที่มีความหวาน หรือน้ำอัดลมราคาเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นภาระต่อผู้บริโภค เพราะทางผู้ผลิตสินค้าได้ทยอยปรับตัว ลดส่วนผสมน้ำตาลลง หรือหันไปใช้น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานอื่นๆ ผสมกับน้ำตาลธรรมชาติแล้ว  

สำหรับเครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพในปัจจุบัน มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยในเดือนม.ค.ที่ผ่านมานี้ เพิ่มเป็น 1,800 รายการ หรือเพิ่มมากกว่าเดิม 9 เท่าตัว นั่นแปลว่า เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัมกำลังมีมากขึ้น ขณะที่ น้ำอัดลมจากที่เคยมีความหวานมากๆ เกิน 10 กรัมต่อลิตร ก็เหลือความหวานเพียง 7.3-7.5กรัมต่อลิตรในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน เชื่อว่ากรณีกระทรวงอุตสาหกรรมมีการขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก กก.ละ 1.75 บาท จะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ รีบปรับสูตรการผลิตโดยลดน้ำตาลลงไปอีก

ภาษีความหวาน

ข้อมูลของเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า น้ำตาลมีส่วนที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่ม โรค NCDs  เช่น มะเร็งตับ ไขมันเกาะตับ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ไขมันอุดตันในหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน และโรคอ้วน โดยพบข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีคนไทยต้องเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs มากถึง  70 % ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด และรัฐบาลต้องใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาทต่อปี

แน่นอนว่า นอกจากภาษีความหวานที่ถูกจัดเก็บแล้ว ในอนาคตผู้ผลิตอาหารยังเจอกับภาษีความเค็มอีกด้วย ซึ่งกรมสรรพสามิตรได้ศึกษาแล้ว 90% แต่จะเริ่มใช้เมื่อไร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของช่วงเวลา เพราะขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวไม่สูงนัก แต่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ที่สำคัญหากจะประกาศใช้จริงก็จะมีช่วงระยะเวลาในการให้ผู้ผลิตได้ปรับตัวด้วยเช่นกัน

 

advertisement

SPOTLIGHT