ข่าวเศรษฐกิจ

สุวรรณภูมิต้อนรับผู้โดยสารแล้ว 17.35ล้านคนหลังไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

18 ก.พ. 66
สุวรรณภูมิต้อนรับผู้โดยสารแล้ว 17.35ล้านคนหลังไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการโควิด ไทยก็เช่นกันได้เปิดประเทศให้มีการไปมาหาสู่กัน เปิดรับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย ตั้งแต่เดือนต.ค.2565 ที่ผ่านมา 

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานของไทยที่ต้อนรับนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีการเตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังประเทศไทยเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา 

ยอดผู้โดยสารแตะ 17.35 ล้านคนที่สุวรรณภูมิ

โดยตัวเลขเที่ยวบิน และผู้โดยสารในภาพรวมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ปัจจุบันนับตั้งแต่ประเทศไทยเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 107,304  เที่ยวบิน และมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 17,350,179 คน

“หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง และประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ได้ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ทำการบินสนามบินสุวรรณภูมิในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด” นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าว

คาดนักท่องเที่ยวจีนแตะ 1 ล้านคนในส.ค.นี้

สำหรับนักท่องเที่ยวจีนภายหลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 และไดด้อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวจัดกรุ๊ปทัวร์นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมานั้น

ตัวเลขจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 8 มกราคม -15 กุมภาพันธ์ 2566 เที่ยวบินที่ทำการบินเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน ฮ่องกง มาเก๊า) มีจำนวน 751 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 20 เที่ยวบิน 

ขณะที่ผู้โดยสารขาเข้าจากจีนมีจำนวน 161,502 คน เฉลี่ยวันละ 4,142 คน นอกจากนี้ สนามบินสุวรรณภูมิคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินขาเข้าจากจีนจะแตะ 500,000 คน ภายในประมาณวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 และแตะ 1,000,000 คน ภายในประมาณวันที่ 20 สิงหาคม 2566 

istock-936584242

สุวรรณภูมิปรับปรุงแก้ไขรับกระเป๋าล่าช้า

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น โดยเฉพาะความแออัดคับคั่งของผู้โดยสารโดยเฉพาะในช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วน (Peak Hour) นั้น ขณะนี้ได้การดำเนินการแก้ไขในหลายๆ ประเด็น อาทิเช่น

  • กรณีการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว สถิติเที่ยวบินที่กระเป๋าล่าช้ามากกว่า 30 นาที ปัจจุบันเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงเหลือประมาณ 15-20 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็นประมาณ 7% ของเที่ยวบินทั้งหมด จาก เดือนมกราคม 2566 ประมาณ 30 เที่ยวบินต่อวัน และเมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน 
  • สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะกลางนั้น บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 ราย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด ได้เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ 
  • การแก้ไขปัญหาระยะยาว อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 ท่าอากาศยานไทยจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป และคาดว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย
  • การแก้ไขปัญหารถแท็กซี่สาธารณะขาดแคลนนั้น ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและใช้เวลา และการรอคิวน้อยที่สุด โดยปัจจุบันมีจำนวนรถแท็กซี่ในระบบเพิ่มขึ้นจากเดิม เป็น 3,909 คัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่เข้าระบบเพื่อรองรับการใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นได้ถึงจำนวน 4,500 คัน และอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและจองการใช้บริการรถ TAXI ได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการรถแท็กซี่istock-939732972

เปิดแผนเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด กล่าวว่า อยู่ระหว่างเตรียมการแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่งบริเวณพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีแผนการเพิ่มขีดความสามารถของจุดตรวจหนังสือเดินทาง แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ 

ระยะที่ 1 - ติดตั้งเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ Auto channel เพื่อรองรับผู้โดยสารขาออกได้ทุกประเทศที่มีการใช้งาน E-Passport ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการผ่าน Auto channel ได้ สะดวก รวดเร็ว 

ในขณะที่ผู้โดยสารขาเข้านอกจากผู้โดยสารชาวไทยแล้ว ประเทศไทยได้มีบันทึกข้อตกลงในการผ่านเข้าประเทศ ทำให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้ สามารถใช้บริการ Auto channel ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณ และคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการจัดหาพัสดุ ได้ประมาณ เดือนมิถุนายน 2566 และเริ่มทยอยทำการติดตั้งเครื่อง Auto channel ได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ไปจนครบภายในเดือนสิงหาคม 2567 ทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาออก จาก 6,200 คน/ชั่วโมง เป็น 8,800 คน/ชั่วโมง  และ สามารถรองรับผู้โดยสารขาเข้า จาก 11,000 คน/ชั่วโมง เป็น 13,300 คน/ชั่วโมง 

ระยะที่ 2 - ก่อสร้างพื้นที่เพิ่มเติมบริเวณพื้นที่ว่างที่อยู่ระหว่างอาคารผู้โดยสารกับ อาคาร Concourse D เพื่อเป็นโถงรองรับผู้โดยสารขาเข้า และผู้โดยสาร Visa on Arrival (VOA) ซึ่งการดำเนินการอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณ และจัดทำข้อกำหนดรายละเอียด (TOR) 

โดยจะสามารถเริ่มงานได้ประมาณ เดือนพฤศจิกายน 2566 และจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 และเมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาเข้าได้อีกประมาณ 2,000 คน/ชั่วโมง และเพิ่มการรองรับในส่วนของผู้โดสาร Visa on Arrival (VOA) ได้อีก ประมาณ 400 คน/ชั่วโมง 

อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานไทยได้ติดตามและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมรองรับสถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้โดยสารที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการและการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT