ข่าวเศรษฐกิจ

แชมป์บอลโลกปลุกหวังชาว 'อาร์เจนติน่า' หลังเศรษฐกิจดิ่ง เจอเงินเฟ้อ100%

19 ธ.ค. 65
แชมป์บอลโลกปลุกหวังชาว 'อาร์เจนติน่า' หลังเศรษฐกิจดิ่ง เจอเงินเฟ้อ100%

เรียกได้ว่าลุ้นกันจนนาทีสุดท้ายจริงๆ สำหรับการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกที่กาตาร์ระหว่าง ‘อาร์เจนติน่า’ และ ‘ฝรั่งเศส’ ที่ทีม ‘ฟ้าขาว’ ประกาศศักดาคว้าถ้วยฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 กลับไปให้ประเทศบ้านเกิดได้สำเร็จหลังได้ถ้วยมาครั้งล่าสุดเมื่อปี 1986 

000_334q6bd

ชัยชนะในครั้งนี้สร้างความยินดีให้กับแฟนบอลทั่วโลกที่เอาใจช่วยให้อาร์เจนติน่าและกัปตันทีม ลิโอเนล เมซซี คว้าชัยชนะกลับไปสำเร็จหลังพลาดแชมป์มาหลายปี แต่ในนาทีนี้คงไม่มีใครดีใจเท่า ‘ชาวอาร์เจนติน่า’ ที่ในที่สุดก็มีเรื่องให้ยินดีหลังต้องผจญกับความไม่มั่นคงทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้ออย่างหนักจนประชากรถึง 43% ของประเทศรายได้ลดลงจนกลายเป็นประชากรกลุ่มยากจน 

ท่ามกลางมรสุมหนักหน่วงเช่นนี้ ถ้วยฟุตบอลโลกที่ทีมชาติอาร์เจนติน่าเพิ่งได้มาเมื่อคืนก่อนหนึ่งจึงไม่ได้เป็นเพียงชัยชนะของทีมฟุตบอลเท่านั้น แต่เป็นชัยชนะของประชาชนทั้งชาติที่กำลังพ่ายแพ้ให้กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาเดินหน้าสู้ต่อเพื่อพาตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายนี้ไปให้ได้

 

อาร์เจนติน่ากำลังเจอวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งใหญ่

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของทั้งโลก เศรษฐกิจของอาร์เจนติน่ากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจากวิกฤติพลังงาน รวมไปถึงหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น และเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงจากการที่รัฐบาลต้องนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อควบคุมราคาพลังงานเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และการรายงานของ Reuters อาร์เจนติน่าประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อเรื้อรังมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ปีนี้ปัญหาเงินเฟ้อของอาร์เจนติน่าทวีความรุนแรงขึ้นเพราะมีปัจจัยภายนอกคือสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนมาทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานอย่างอาร์เจนติน่า

วิกฤติพลังงานทำให้เงินเฟ้อของอาร์เจนติน่าพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในระยะเวลาสั้นๆ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของอาร์เจนติน่าพุ่งขึ้นไปสูงถึง 92.4% จาก 50.7% ในเดือนมกราคม ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างไทยที่ในเดือนพฤศจิกายนมีค่า headline inflation ถึง 5.5% เท่านั้น โดยมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 100% ในปลายเดือนธันวาคมนี้

ภาวะเงินเฟ้อที่เข้าขั้นวิกฤตินี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอาร์เจนติน่าเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อราคาสิ่งของสูงขึ้นจนค่าแรงขึ้นไม่ทัน ประชาชนถึง 43% จึงกลายเป็นประชากรในกลุ่มยากจนในปีนี้เพราะรายได้ที่พวกเขามีไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ในประเทศอีกต่อไป และทำให้เกิดความไม่สงบตามมา เพราะมีประชาชนออกมาประท้วงเพื่อขอขึ้นค่าแรงอย่างต่อเนื่อง 

ในขณะเดียวกัน จากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ การเมืองของอาร์เจนติน่าก็กำลังขาดเสถียรภาพอย่างหนักเพราะประชาชนไม่พอใจการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ถึงแม้จะขึ้นดอกเบี้ยแล้วถึง 9 ครั้งในปีนี้ ในขณะที่ผู้สนับสนุนของอดีตประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี คริสตินา เฟอร์นันเดซ เดอ เคิร์ชเนอร์ ที่กำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชั่น ก็กำลังจะออกมาชุมนุมเพื่อประท้วงหากอดึตประธานาธิบดีผู้นี้ถูกตัดสินโทษ

จากสถานการณ์เหล่านี้ จึงเรียกได้ว่าอาร์เจนติน่ากำลังอยู่ในมรสุมหนัก อีกทั้งยังเป็นมรสุมที่มืดมิดไร้ทางออก เพราะจากคาดการณ์ของ OECD และธนาคารโลก เศรษฐกิจของโลกกำลังเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า และเศรษฐกิจของอาร์เจนติน่าก็ยังไม่มีหวังที่จะฟื้นจากปัจจัยลบหลายประการทั้งภายในและภายนอกประเทศ

 

‘ฟุตบอล’ กีฬาประจำชาติ และสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของชาวอาร์เจนติน่า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อาร์เจนติน่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ขนาดไหน สิ่งที่ช่วยชุบชูใจของประชาชนอาร์เจนติน่าได้ก็คือ ‘ฟุตบอล’ กีฬาที่เปรียบเสมือน ‘กีฬาประจำชาติ’ หรืออาจจะเป็นถึง ‘ศาสนา’ ของใครหลายๆ คน เพราะมันเป็นกิจกรรมที่เสมือนเป็น ‘สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพวกเขาในยามทุกข์ยาก’ รวมไปถึงเป็น ‘ศูนย์รวมจิตใจของประชาชนอาร์เจนติน่า’ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันแค่ไหนในเรื่องอื่นๆ

000_334u2qt

 “[เมื่อได้เล่นฟุตบอล] คุณจะลืมไปเลยว่าคุณมีหนี้ หรือมีปัญหาอื่นๆ อยู่ในชีวิต” Alberto Arce พนักงานโรงงานชาวอาร์เจนติน่าวัย 40 ปีที่เล่นฟุตบอลและเป็นกรรมการในเวลาว่างบอกกับ The Wall Street Journal สะท้อนความสำคัญของฟุตบอลในฐานะกีฬาที่ช่วยคลายความทุกข์ของชาวอาร์เจนติน่า

จากข้อมูลของ Britannica ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เข้ามาในอาร์เจนติน่าในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยผู้อพยพชาวอังกฤษที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงบัวโนสไอเรส และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในอาร์เจนติน่าไปในที่สุด โดยในปัจจุบันอาร์เจนติน่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้เล่นฟุตบอลและสโมสรฟุตบอลสูงที่สุดในโลก  

นอกจากนี้ กีฬาฟุตบอลยังกลายเป็น ‘สัญลักษณ์ของการต่อสู้’ เพราะมันเป็นกีฬาที่ชาวอาร์เจนติน่ามองว่ามีความ ‘เท่าเทียม’ และเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้แม้แต่คนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดใช้ความพยายามและความสามารถไต่เต้าขึ้นมามีชื่อเสียง และสร้างทรัพย์สินเงินทองของตัวเองได้

เพราะเหตุนี้เอง ชาวอาร์เจนติน่าหลายคนจึงผูกการแข่งขันฟุตบอลเข้ากับอัตลักษณ์ของชาติที่ต้องผ่านการต่อสู้และล้มเหลวมาหลายต่อหลายครั้งเช่นกันกว่าจะได้ชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม หรือเผด็จการทหารจนได้ประชาธิปไตยในช่วงปี 1930-1983

หลังจากล้มเหลวมาหลายครั้งจนประเทศไม่เคยได้แชมป์ฟุตบอลโลกมาถึง 36 ปี ชัยชนะของทีมชาติอาร์เจนติน่าและเมซซีในครั้งนี้จึงเป็นการจุดประกายความหวังครั้งใหม่ให้ชาวอาร์เจนติน่าต่อสู้ รวมไปถึงสร้างความภาคภูมิใจ และทำให้มีการเฉลิมฉลองที่ดึงพวกเขาขึ้นมาจากความสิ้นหวังได้ แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ

จากการรายงานของ Politico แฟนบอลบางคนมองว่านี่เป็นหมุดหมายการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะไปสู่ทางออกของประเทศ เพราะในคราวที่อาร์เจนติน่าได้ถ้วยฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 ในปี 1986 อาร์เจนติน่าก็เพิ่งพ้นจากการปกครองของระบอบทหารมาได้ 3 ปีพอดี พวกเขาจึงมองว่าชัยชนะในครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นด้วย 

โดยถึงแม้จะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซามานาน เศรษฐกิจอาร์เจนติน่าก็มีหวังฟื้นขึ้นได้ในปีหน้าด้วยทรัพยากรก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานและลิเธียมในปาตาโกเนีย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการเลือกตั้งในปีหน้าที่อาร์เจนติน่ามีหวังได้รัฐบาลฝ่ายขวาที่มีนโยบายเป็นมิตรกับตลาดมากกว่ารัฐบาลปัจจุบันที่มีนโยบายกีดกันทางการค้า

“ทุกคนเท่าเทียมกันในเกมฟุตบอล… ถึงแม้จะไม่มีอะไรเลยในชีวิต ทุกคนก็มาร่วมฉลองชัยชนะได้ ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ไม่ต้องคิดถึงปัญหาเศรษฐกิจ” ปาโบล โนยา นักบอลอาชีพที่ผันตัวมาเป็นผู้สื่อข่าวกีฬา บอกกับเดอะการ์เดียน 

 

ที่มา: The Financial Times, Politico, The Guardian, The Wall Street Journal, OECD, Britannica

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT