ข่าวเศรษฐกิจ

'บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์' ชงส่งออกจุดเด่นไทย '5F' บุกตลาดนอกล็อตแรก

12 ธ.ค. 65
'บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์' ชงส่งออกจุดเด่นไทย '5F' บุกตลาดนอกล็อตแรก

บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ ชู 3 เรื่อง 2 ยุทธศาสตร์ เร่งดัน Soft Power ไทยสู่เวทีโลก ชงส่งออก '5F' ฟู้ด-ไฟท์-ฟิล์ม-แฟชั่น-เฟสติวัล บุกเอเชีย 


หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power หรือ "บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์" เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุด บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้มีการประชุดนัดแรกและเคาะแผนขับเคลื่อนชุดแรกออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และเสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลก

ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อน Soft Power ไทยในระยะแรก หรือ "Quick Win" (6-12 เดือน) ใน 3 เรื่อง ได้แก่     

  1. ผลักดันคอนเทนต์ 5F ซึ่งเป็นที่นิยมและสอดคล้องกับความต้องการเข้าสู่ตลาดอาเซียนและเอเชีย
  2. เผยแพร่ภาพลักษณ์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ (Nation Branding) 
  3. ขยายการสนับสนุนธุรกิจคอนเทนต์และดิจิทัลคอนเทนต์ในไทย โดยจัดกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ประเทศไทยนั้นมีทุนวัฒนธรรม 5F ที่โดดเด่น ได้แก่ อาหาร (Food), ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fight), ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film), การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion), และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จากดัชนี Global Soft Power อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมคอนเทนต์และดิจิทัลคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งอีกด้วย 

softpower01

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พบว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในเชิงอุตสาหกรรมคอนเทนต์ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น การเกิดปรากฏการณ์ซีรีส์วาย ที่พัฒนาจากคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มไปสู่คอนเทนต์กระแสหลัก จนก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า ‘Y Economy’ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายระดับโลก และอันดับ 1 ในเอเชีย โดยได้รับความนิยมมากในไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพบว่ามีมูลค่าการตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ก็ยังมีการจุดติดของกระแส T-Pop ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะวงไอดอล แต่ยังรวมถึงทุกแนวดนตรีของไทย ซึ่งจุดแข็งของไทยคือ “ความหลากหลายทางดนตรี” โดยปีที่ผ่านวงการดนตรีอิสระของไทย หรือ “อินดี้ป๊อป” มีการเติบโตขึ้นมาก และมีศิลปินที่สร้างชื่อในระดับโลกหลายคน เช่น "อิ้งค์-วรันธร" และ "มิลลิ" ที่คว้ารางวัลจากเวทีดัง Mnet Asian Music Awards 2020 เกาหลีใต้  รวมถึงวง "4Mix" บอยแบนด์ LGBTQ+ วงแรกของไทยที่ไปบุกตลาดในละตินอเมริกาและยุโรป

ghfzpfubmo5fyro9w4xtmb3utfszl

สำหรับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยใน 3 ข้อ จะอยู่บนเป้าหมายภูมิภาคในอาเซียนและเอเชีย ภายใต้แนวคิด “Connecting Asia” และดำเนินการผ่าน 2 ยุทธศาสตร์ PUSH & PULL คือ

PUSH - ส่งออกคอนเทนต์และดิจิทัลคอนเทนต์ในตลาดอาเซียนและเอเชีย ได้แก่ เพิ่มการผลักดันคอนเทนต์งานแสดง งานประกวด และตลาดการค้านานาชาติ อีกทั้งเพิ่มการสร้างกิจกรรมภาครัฐและภาคเอกชนในต่างประเทศ พร้อมเน้นสื่อสารผ่านชุดภาพลักษณ์ร่วม

PULL - ดึงดูดการลงทุน ธุรกิจ และกิจกรรมจากต่างประเทศเข้าสู่ในประเทศ จัดอีเวนต์ระดับชาติ (Icon Event) ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Business) และปรับปรุงมาตรการการจูงใจและกฎระเบียบให้เอื้ออำนวย 

softpower02


ปีหน้าเปิดโปรเจกต์รองรับ 10 โครงการ 263 ล้านบาท

เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ในปีหน้า 2566 ที่ประชุมจึงได้พิจารณาผลักดันโครงการงบประมาณปี 2566 จำนวน 10 โครงการ วงเงินประมาณ 263 ล้านบาท โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการ Thai Festival กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าในงาน Hong Kong Film & TV Market 2023  และโครงการ Content Lab และ มาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) แก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาทักษะและยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกมไทยต่อยอดสู่ระดับสากล (depa) โดยงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, โครงการ Soft Power for Better Thailand ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), และโครงการที่เสนอขอเพิ่มเติมในปี 2566 จำนวน 7 โครงการ วงเงินประมาณ 575 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่สำคัญ อาทิ การประกวด Miss Universe โดยกระทรวงวัฒนธรรม และโครงการ Thai Music Artist to the Global Stage โดย CEA 

ส่วนในปีถัดไป 2567 บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ได้เตรียมแผนงานและโครงการเพื่อขับเคลื่อน Soft Power จำนวน 16 โครงการ เช่น โครงการ International Market for Game Industry, โครงการ Asian Contents & Film Market (ACFM), โครงการ Thailand International Content Market 2024 (TICoM), และโครงการต่อยอดและส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เป็นต้น  

สุดท้ายนี้ บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ รับทราบการจัดทำแผนขับเคลื่อน Soft Power ไทย ในระยะยาวผ่านร่างของกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย 

  1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน 
  2. (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งจะขยายกรอบคลุมการทำงานให้ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ ในวงกว้าง และขับเคลื่อน Soft Power ยกระดับแบรนด์ของประเทศไทยในเวทีโลก ช่วยเสริมพลังผลักดันเศรษฐกิจไทย และการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อไป

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT