ข่าวเศรษฐกิจ

คนไทยร้อง "รายได้ไม่พอรายจ่าย"โพลชี้ ค่าเดินทาง/ค่าน้ำ/ค่าไฟ หนักสุด

9 ต.ค. 65
คนไทยร้อง "รายได้ไม่พอรายจ่าย"โพลชี้ ค่าเดินทาง/ค่าน้ำ/ค่าไฟ หนักสุด

ดุสิตโพลชี้ คนไทยกว่าครึ่ง "รายได้" ไม่พอ "รายจ่าย" โอดค่าเดินทาง/ค่าน้ำ/ค่าไฟ หนักสุด อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหา "ของแพง" ไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาคนจนได้จริง

 

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,067 คน ระหว่างวันที่ 3-6 ต.ค. 2565 พบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง หรือ 54.54% ที่คิดว่า ณ วันนี้รายได้ของประชาชนไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยสินค้า 3 หมวดหลักที่คิดว่า "แพง" เกินกว่าที่จะรับได้ก็คือ ค่าน้ำมัน/ค่าเดินทาง ที่ 82.96%, ค่าน้ำ/ค่าไฟ 71.19% และแก๊สหุงต้ม 66.38%

สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา ก็คือ คนส่วนใหญ่ 85.73% ต้องการให้ควบคุมราคาสินค้า/ลดราคาสินค้า ส่วนรองลงมา 68.43% ต้องการให้ลดภาษีน้ำมัน และอีก 56.52% ต้องการให้เสนอข้อมูลความจริงแบบไม่ปิดบัง

ส่วนกรณีที่มี “คนจน” เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนนั้น มองว่าปัญหาหลัก 80.38% เป็นเพราะของแพงทำให้คนมีเงินไม่พอใช้ รองลงมา 74.72% มองว่าเป็นเพราะมีคนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้ ดังนั้น สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อช่วยเหลือมากที่สุด 78.32% ก็คือ สร้างโอกาส สร้างรายได้ เน้นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว รองลงมา 77.19% เห็นว่าควรแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ในภาพรวมนั้น ประชาชนคิดว่ารัฐบาล "ไม่น่าจะแก้ปัญหาคนจนได้" 77.32% ส่วนปัญหา “ของแพง” ก็ไม่น่าจะแก้ไขได้เช่นกัน 59.23%

สวนดุสิตโพล

อาชีพไหน "ขัดสน" มากที่สุด

ผลการสำรวจเชิงลึกยังพบว่า กลุ่มอาชีพที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 3 อันดับแรก คือ 1.กลุ่มอาชีพรับจ้าง 2.กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และ 3.กลุ่มคนทำธุรกิจส่วนตัวและค้าขาย 

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะทั้งสามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอน จึงเกิดปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยปัญหาของแพงเข้ามากระทบต่อการใช้จ่ายประชาชนเป็นอย่างมาก คนมีเงินไม่พอใช้ ช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้เกิดภาวะตกงาน ว่างงาน ต้องหยิบยืมมาใช้จ่ายทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น อัตราคนจนหรือคนรายได้น้อยก็เพิ่มสูงขึ้น เสียงสะท้อนจากผลโพลจึงต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดภาระของประชาชนโดยเร็ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตต์วิมล คล้ายสุบรรณ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้ หรือบางคนถูกลดเงินเดือน จึงส่งผลให้คนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน

ดังนั้นจึงหมายถึงมีจำนวนคนจนมากขึ้นนั้นเอง เมื่อ “รายได้น้อยลง” แต่ “ของแพงขึ้น” จึงทำให้เงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงปากท้องในแต่ละวัน 

istock-1218086084(1)

ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนอยู่หลายโครงการ แต่ก็ถือเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยเฉพาะวางแผนในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลชุดนี้เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน 

สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนกลไกและวิธีการในการแก้ไขปัญหาให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และสำหรับความตั้งใจของรัฐบาลที่ว่า “30 กันยายน 2565 คนจนจะหมดไป” ณ วันนี้ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องหาวิธีการแก้จนกันต่อไป

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT