ข่าวเศรษฐกิจ

"เกียวโต" เสี่ยงล้มละลาย! เมื่อนักท่องเที่ยวหายเพราะโควิด

31 ม.ค. 65
"เกียวโต" เสี่ยงล้มละลาย! เมื่อนักท่องเที่ยวหายเพราะโควิด

"เกียวโต" เสี่ยงล้มละลาย หลังจากโควิด-19 ฉุดนักท่องเที่ยวหาย 2 ปี เตรียมรีด "ภาษีวัด" หารายได้เข้ารัฐด่วน 

 

"เมืองล้มละลาย" (Bankruptcy City) เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก เมื่อเมืองนั้นๆ มี "หนี้" มากกว่า "รายได้" ทำให้เมืองไม่สามารถบริหารจัดการทางการเงิน ไม่มีเงินไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรือดูแลสาธารณูปโภคต่างๆ สุดท้ายก็ต้องพึ่ง "ศาลล้มละลาย" เพื่อขอโอกาสเริ่มต้นใหม่ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้



ตัวอย่างที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือ ดีทรอยต์ (Detroit) ในสหรัฐ ที่เคยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอเมริกา แต่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันของรถญี่ปุ่นและของโลกได้ ซึ่งนับเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกของสหรัฐและของโลกที่ประสบภาวะล้มละลาย

 

แต่มาวันนี้ กำลังจะมีเมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่จ่อเข้าปากเหวของภาวะล้มละลายตามมาติดๆ นั่นก็คือ "เกียวโต" เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยรู้จักกันดีและเคยไปเที่ยวกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น วัดน้ำใส (Kiyomizu), วัดทอง (Kinkaku-Ji), เสาโทริอิ ที่ศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ หรือป่าไผ่ซากาโนะ ที่อาราชิยาม่า

000_hkg9478884

ทำไม เมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง "เกียวโต" ถึงเสี่ยงล้มละลาย?

       ถ้าเมืองท่องเที่ยวจะล้มละลาย คำตอบง่ายๆ อันดับแรกก็คือ "เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว" เกียวโต ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวเหมือน ภูเก็ต บาหลี ปักกิ่ง ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมานานถึง 2 ปี เพราะสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรายได้ของเมือง

       จากเดิมที่เคยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 50 ล้านคน ในปี 2008 จำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งขึ้นจบทุบสถิติใหม่ที่ 88 ล้านคน ในปี 2019 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 38 ล้านคน ภายใน 11 ปี การท่องเที่ยวจึงกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกียวโต โดยเฉพาะเมื่อการบริโภคจากการท่องเที่ยวพุ่งทะลุหลัก 1 ล้านล้านเยน ในปี 2018

       แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก โดยในเดือน มิ.ย. 2020 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเกียวโตเพียง 4.5 แสนคนเท่านั้น หรือลดลงถึง 88% เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 3.8 ล้านคน ในปี 2019 ขณะที่ยอดจองโรงแรมในปี 2020 ก็ลดลงเกือบ 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

000_8yq6be


การเงินของ "เกียวโต" แย่แค่ไหน?

       ปีงบประมาณ 2021 (สิ้นสุด มี.ค. 2022) ทางการท้องถิ่นเกียวโตประเมินว่า จะขาดดุลอีก 5 หมื่นล้านเยน (ราว 1.45 หมื่นล้านบาท) ซึ่งจะยิ่งพอกพูนตัวเลขขาดดุลสะสมของเดิมที่มีอยู่ถึง 8.6 แสนล้านเยน (ราว 2.51 แสนล้านบาท)

       พ่อเมืองเกียวโต เดียซากุ คาโดกาวะ ถึงกับออกโรงเตือนเมื่อปีที่แล้วว่า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เกียวโตอาจถึงขั้น "ล้มละลาย" ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้

       เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานว่า นอกจากปัญหาเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงเพราะโควิด-19 แล้ว ปัญหาทางการเงินของเกียวโตอีกส่วนหนึ่ง ยังมาจากการโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้งบประมาณมาก เช่น การลงทุนด้านรถไฟ และการที่เกียวโตยกเว้นการเก็บ "ภาษีวัด"

       การลงทุนปรับปรุงรถไฟสาย โทไซ (Tozai) ที่มีมาตั้งแต่ปี 1997 เพื่อหวังแก้ปัญหาเรื่องการจราจร เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และรับเป้าหมายสิ่งแวดล้อมภายในปี 2050 กลายเป็นการลงทุนที่ "บานปลาย" งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิมที่วางแผนไว้ บานปลายเป็น 5.5 แสนล้านเยน (ราว 1.6 แสนล้านบาท)

000_1s03yb

       ขณะที่การยกเว้นภาษีศาสนสถาน หรือเรียกสั้นๆ ว่าภาษีวัด ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกมองว่าทำให้รัฐขาดรายได้ก้อนใหญ่ไป ซึ่งปัจจุบัน เกียวโตมีศาสนสถานมากถึงราว 2,000 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นวัดพุทธประมาณ 1,500 แห่ง และศาสนสถานของชินโต 500 แห่ง แต่ที่ผ่านมา ทางการเลือกที่จะยกเว้นภาษีเหล่านี้ให้ โดยไปเก็บเกี่ยวรายได้จากการท่องเที่ยวแทน ซึ่งส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะถูกต่อต้านอย่างหนักเรื่องการเก็บภาษีวัดด้วย

 


"รีดภาษี" ทางออกยุคโควิดยาว

       เมื่อรายได้ ไม่สมดุลกับ รายจ่าย ทางออกจึงต้องพยายามปรับสมดุลทางบัญชี โดยที่การรีดภาษี ก็เป็นส่วนหนึ่งในทางออกนี้เช่นกัน

       ผู้ว่าการเกียวโต เสนอแผนหลายอย่างที่จะช่วยปรับสมดุล เช่น

  • การเก็บภาษีวัดโดยสมัครใจ คือไม่ได้กำหนดเป็นการเก็บภาษีชัดเจน เพื่อลดแรงต่อต้าน แต่เป็นแผนการให้ศาสนสถานบริจาค
  • เงินช่วยรัฐโดยสมัครใจ
  • การลดสวัสดิการให้ท่องเที่ยวฟรีสำหรับผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป จะเพิ่มเพดานอายุเป็น 75 ปี
  • การลดพนักงาน/ลูกจ้างของรัฐประมาณ 550 คน เป็นอย่างต่ำ ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้
  • การลดเงินอุดหนุนด้านสวัสดิการในการดูแลเด็ก (เดิมเป็นแคมเปญดึงดูดให้ครอบครัวมาตั้งรกรากทำงานที่นี่)
  • การเสนอแผนภาษีใหม่สำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเกียวโต แต่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่อาศัยในเกียวโต

 

000_hkg651040

ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่า แผนการนำเสนอนี้จะผ่านออกมาเป็นมาตรการจริงจังเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่ แต่ตราบใดที่โควิด-19 ยังไม่หมดไป และการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ เกียวโตอาจต้องเร่งแก้ปัญหาการเงินเฉพาะหน้าอย่างจริง ก่อนที่อดีตเมืองหลวงอายุ 1,200 ปีแห่งนี้ จะเหลือแค่อดีตจริงๆ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT