ข่าวเศรษฐกิจ

ชี้ห้ามส่งออกแก้ไม่ตรงจุด วอนรัฐเร่งช่วยปัญหาหมูแพง

7 ม.ค. 65
ชี้ห้ามส่งออกแก้ไม่ตรงจุด วอนรัฐเร่งช่วยปัญหาหมูแพง

นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาหมูแพงของหน่วยงานรัฐว่า เป็นการแก้ปัญหาผิดจุด ซึ่งไม่เข้าใจปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะมาตรการห้ามส่งออกหมูมีชีวิตชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน เพราะวันนี้จำนวนหมูในประเทศไม่พอ เข้าขั้นขาดแคลนไม่มีเหลือส่งออกอยู่แล้ว จะห้ามส่งออกไปก็ไม่มีผล




นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าวว่า หากเป็นสถานการณ์ในอดีตอาจจะทำได้ โดยในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทำให้การบริโภคหมูในประเทศลดลง จึงมีปริมาณหมูในระบบเหลือ ทำให้ต้องส่งออกเพื่อระบายสินค้า แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว จึงเอาข้อมูลเก่าเอามาใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแล้วไม่ได้




ปัญหาในปัจจุบัน คือ "ต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น" และ "การเกิดโรคระบาดในหมู" หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน มีหมูตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติภายในเวลา 4 เดือน ปริมาณหมูที่หายไปจากระบบ 5 ล้านตัว ก็ไม่สามารถกลับมาได้ภายใน 4 เดือนเช่นกัน คาดว่ากว่าจะฟื้นได้ต้องใช้เวลา 1-2 ปี รวมทั้งต้องแก้ปัญหาโรคระบาดและเพิ่มปริมาณหมูในระบบ




อุปนายกสมาคมฯ ยังเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการประกาศวิกฤตโรคระบาดในหมูเป็นภัยพิบัติฉุกเฉิน และให้คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน เพื่อหามาตรการฟื้นฟูการเลี้ยงให้กับเกษตรกร โดยที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เสนอเรื่องนี้ไปเป็นปีแล้ว โดยครั้งนั้นเสนอของบฯ ช่วยเหลือไปราว 500 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับความสนใจในการพิจารณา ซึ่งครั้งนี้มองว่ารัฐบาลควรนำข้อเสนอดังกล่าวกลับมาทบทวนอีกครั้ง เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและเพิ่มปริมาณหมูในระบบได้อย่างตรงจุด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT