ธุรกิจการตลาด

JKN ขาดทุน 2,157 ล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ยันจะขาดทุนแค่ครั้งเดียว

28 มี.ค. 67
JKN ขาดทุน 2,157 ล้านบาท  ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ยันจะขาดทุนแค่ครั้งเดียว

หุ้น JKN ประกาศผลขาดทุนสุทธิ 2,157.48 ล้านบาท ลดลง 469.87% ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ขณะที่รายได้รวม อยู่ที่ 2,495.42 ล้านบาท ลดลง 6.52% ลดลงจากรายได้ค่าลิขสิทธิ์ รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ ขณะที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชําระหนี้ และอยู่ระหว่างยื่นขอฟื้นฟูฯ กิจการ

ในวันนี้ (28 มี.ค.) บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลขาดทุนสุทธิ 2,157.48 ล้านบาท ลดลง 469.87% จากการด้อยค่าของสินทรัพย์ 

ทั้งสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ลิขสิทธิ์คอนเทนต์ เครื่องหมายการค้าและค่านิยมของบริษัท รวม 1,144.97 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งตั้งเป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวม 494.86 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัย่อยอีก 619.45 ล้านบาท

“ การขาดทุนครั้งเป็นการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ และการขาดทุนครั้งนี้เป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปี และจะเป็นการขาดทุนครั้งนี้ ครั้งเดียว และเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN

 

ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์

โดยเหตุผลหลักในการขาดทุนสุทธินี้ มาจากการพิจารณาการด้อยค่าของสินทรัพย์ของบริษัท โดยเป็นการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าในสินทรัพย์ไม่มีตัวตน-ลิขสิทธิ์ คอนเทนต์ของบริษัทและบริษัทย่อยรวมเป็นจำนวน 841.97 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการด้อยค่าในเครื่องหมายการค้า และค่าความนิยมของบริษัทและบริษัทย่อยรวมเป็นจำนวนเงิน 271.52 ล้านบาท และการตั้งสำรองด้อยค่าในสินทรัพย์อื่นรวมเป็นจำนวนเงิน 31.48 ล้านบาท รวมทั้งสามรายการเป็นยอดรวมทั้งสิ้น 1,144.97 ล้านบาท

รวมถึง การรับรู้ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทและบริษัทย่อยโดยตั้งเป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวมเป็นจำนวน 494.86 ล้านบาท และบริษัทมีการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าในเงินลงทุนในบริษัทย่อยรวมเป็นจำนวน 619.45 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการกระทบในงบการเงินเฉพาะแต่ละกิจการ นอกจากรายการด้อยค่าข้างต้น ยังเป็นผลจากรายได้ในธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 มีจำนวนลดลงอย่างมาก 

แม้จะมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจการจัดประกวดนางงามจักรวาลที่จัดประกวดในเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงของธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ได้ เนื่องด้วยในส่วนต้นทุนบริการของธุรกิจการขายและให้บริการได้รวมต้นทุนของการจัดการสิทธิ์ของมิสยูนิเวิร์สจากการจัดการประกวด 2 ครั้งในปี 2566 ไว้ (จัดประกวดในเดือนมกราคม 2566 และ พฤศจิกายน 2566) 

จากเหตุผลที่กล่าวจึงส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ปรับตัวลดลงอยู่ในสถานะขาดทุนสุทธิ -86.46% โดยในปu 2565 มีอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 21.85% และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อเทียบกับรายได้รวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่อัตรา 99.39% จากอัตรา 18.16% ในปี 2565

ทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 2.495.42 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 174.15 ล้านบาท หรือ 6.52%  โดยรายได้ของบริษัทและบริษัทย่อยในแต่ละธุรกิจสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรายได้ประเภทเดียวกันจากปีก่อนในแต่ละธุรกิจของบริษัท และรายได้อื่น ดังนี้ 

  1. รายได้ค่าสิทธิ์จากธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการ ลดลง 13.82% 
  2. รายได้จากการให้บริการจากธุรกิจบริการโฆษณา เพิ่มขึ้น 47.62% 
  3. รายได้จากการขายจากธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลดลง 41.06%
  4. รายได้จากการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ขององค์กรนางงามจักรวาลเพิ่มขึ้น 3,206.06% จากการที่เป็นปีแรกที่จัดประกวดนางงามจักรวาลภายใต้การดำเนินงานของบริษัท
  5. รายได้อื่นลดลง 92.45% เนื่องจากรับรู้กำไรจากการซื้อกิจการในราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม 441.10 ล้านบาท

ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นงบปี 2566

ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชี ขอไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินปี 2566 ของ JKN ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

  1. การขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชําระหนี้ เนื่องจากหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 เนื่องจากกลุ่มบริษัทบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินไม่เป็นไปตามแผนส่งผลให้บริษัทผิดนัดชําระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A การผ่อนผันการชําระหนี้รวมถึงการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาชําระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าวตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่น ๆ จํานวน 6 รุ่น Cross Default ตามข้อกําหนดสิทธิ

นอกจากนี้ ยังถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้สินเงินกู้จากสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน ทําให้บริษัทต้องพิจารณาจัดประเภทหนี้สินประเภทหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้สินเงินกู้จากสถาบันการเงินเป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 กลุ่มบริษัทจึงมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมสําหรับงบการเงินรวมจํานวนเงิน 4,908.77 ล้านบาท และงบการเงินเฉพาะกิจการจํานวนเงิน 3,079.25 ล้านบาท 

อีกทั้ง JKN มีผิดนัดชําระหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และบริษัทไม่สามารถเจรจาต่อรองหรือหาแหล่งเงินทุนมาจ่ายชําระหนี้สินที่ผิดนัดชําระหนี้กับสถาบันการเงินได้เป็นผลสําเร็จ

      2. การยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลล้มละลายกลาง จากหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 และ 1.3 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 มีมติให้บริษัทยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการและในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท บริษัทจึงเข้าสู่สภาวะการพักชําระหนี้ และกําหนดวันไต่สวนคําร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567 ต่อมามีการเลื่อนไต่สวนคําร้องเป็นวันที่ 5 มีนาคม 2567 ศาลล้มละลายกลางได้ไต่สวนพยานของผู้ร้องขอและไต่สวนพยานของผู้คัดค้านแล้ว คดีเสร็จการไต่สวนและให้นัดฟังคําสั่งในวันที่ 23 เมษายน 2567

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลต่อการเรียกชําระคืนของหนี้สินโดยพลัน และอาจถูกฟ้องร้องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และการจ่ายชําระหนี้สินจึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางว่าจะมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่

รวมถึง การยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้และการแต่งตั้งผู้ทําแผน ผลสําเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการหากได้รับคําสั่งจากศาลล้มละลายกลาง และความสามารถในการดําเนินการตามแผนธุรกิจ ตลอดจนกระแสเงินสดจากการดําเนินธุรกิจ การหาแหล่งเงินทุนและการขายสินทรัพย์ต่างๆ ณ วันที่รายงานการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีผู้บริหารอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนธุรกิจตลอดจน การเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ ทําให้ผู้สอบบัญชีไม่สามารถตรวจสอบโดยวิธีการอื่นจากเหตุการณ์ที่ยังไม่สามารถสรุปผลได้

      3. การจัดหาเงินและสภาพคล่อง เพื่อใช้ในการดําเนินงานต่อเนื่องตามตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 บริษัทได้มีการวางแผนและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจ โดยคาดว่าจะมีกระแสเงินสดจากการวางแผนธุรกิจและการตลาดให้เติบโตจากธุรกิจ Commerce โดยเน้นการขายสินค้าออนไลน์ เพิ่มขึ้นโดยใช้สื่อของเครื่องหมายการค้า Miss Universe ในการผลักดันและต่อยอดการขายเพิ่มผลิตภัณฑ์ แบรนด์ Miss Universe ปรับแผนการนําลิขสิทธิ์รายการไปหาประโยชน์กับสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Miss Universe Organization ให้มากขึ้น ลดต้นทุนของธุรกิจโดยจ้างบุคคลภายนอก

การจัดหาเงินและสภาพคล่องเพื่อใช้ในการดําเนินงานต่อเนื่องขึ้นอยู่กับความสําเร็จของแผน และกลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างช่วงปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจและแผนกระแสเงินสด ทั้งนี้ฝ่ายบริหารของบริษัทเห็นว่า การจัดทํางบการเงินโดยเห็นว่ากิจการจะดําเนินงานอย่างต่อเนื่องนั้นยังคงเหมาะสม เนื่องจากบริษัทสามารถทําการใดๆ ที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติต่อไปได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 12 เดือนนับจากวันที่ในงบแสดงฐานะการเงิน

ทั้งนี้ สถานะการเงินและความสามารถในการดําเนินงานต่อเนื่องของบริษัทในอนาคต มีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ รวมถึงคําสั่งของศาลล้มละลายกลาง การพิจารณาลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้ ความสําเร็จในการดําเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการหากได้รับคําสั่งจากศาลล้มละลายกลาง และความสามารถในการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทและบริษัท

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น มีผลกระทบและมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสําคัญต่อความสามารถในการดําเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทและบริษัท มีโอกาสส่งผลกระทบที่มีนัยสําคัญต่อมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่มีสาระสําคัญในงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สําหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ได้

ดังนั้น การที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นในรายงานต่อข้อมูลทางการเงินของบริษัท สําหรับปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2566 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจํากัดขอบเขตโดยผู้บริหารแต่เกิดจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยึงได้ขึ้นเครื่องหมาย SP, CS หลักทรัพย์ของ JKN กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจมีการสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้

advertisement

SPOTLIGHT