ธุรกิจการตลาด

ทำไมเมืองใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษประกาศล้มละลาย มีที่อื่นอีกไหม?

11 ก.ย. 66
ทำไมเมืองใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษประกาศล้มละลาย  มีที่อื่นอีกไหม?

‘สภาเมืองเบอร์มิงแฮม’ เมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอังกฤษประกาศล้มละลายเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังภาระค่าใช้จ่ายพุ่งทะลุรายได้ จากกรณีที่สภาต้องจ่ายค่าชดเชยมูลค่าสูงถึง 760 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 34,000 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มพนักงานหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่รวมตัวยื่นฟ้องในคดีจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ

 

อังกฤษ ล้มละลาย

 

การจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ด้านกฎหมายกับสหภาพแรงงานที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ศาลการจ้างงานของอังกฤษ (Employment Tribunal) ตัดสินให้พนักงานหญิงของสภาเมืองกว่า 5,000 คน ชนะคดีเรียกร้องการจ่ายค่าแรงเท่าเทียม ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2010 ซึ่งพนักงานหญิงหลายตำแหน่ง ไม่ได้รับเงินโบนัสแบบเดียวกับที่พนักงานชายได้

สภาเมืองเบอร์มิงแฮมเปิดเผยว่าได้จ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานหญิงไปแล้ว 1,100 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ยังยังเหลือยอดหนี้อีกราว 650-750 ล้านปอนด์ ทำให้มีภาระเพิ่มขึ้นเดือนละ 5 ล้าน ถึง 15 ล้านปอนด์ (200 ล้าน ถึง 670 ล้านบาท) ซึ่งสภาเมืองไม่สามารถหาเงินมาชำระได้

นอกจากนี้ทางผู้นำสภายังชี้ถึงแรงกดดันด้านงบประมาณอื่นๆ จนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางสภาได้ตัดสินใจยุติการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็นทั้งหมด และนำไปสู่การที่หัวหน้าฝ่ายการเงินของสภาได้ออกประกาศมาตรา 114 เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งชี้ว่าไม่มีหนทางปฏิบัติตามความรับผิดทางการเงิน และไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณใหม่ๆ ได้

 

เบอร์มิงแฮม ล้มละลาย



การประกาศในครั้งนี้ จะทำให้สภาเบอร์มิงแฮมจะต้องหยุดให้บริการภาครัฐที่ไม่มีความจำเป็นทั้งหมด แต่ยังคงให้บริการตามกฎหมายไว้ อาทิ บริการด้านการศึกษา, การคุ้มครองเด็กและการดูแลสังคม, การวางแผนและบริการที่อยู่อาศัย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีสภาท้องถิ่นอีกหลานแห่งที่ต้องประกาศล้มละลาย เช่น วอคกิง ครอยดอน และ เทอร์รอค หลังจากหลายโครงการลงทุนเกิดปัญหา และ เผชิญกับการปรับลดเงินทุน ซึ่งทางการอังกฤษประเมิณว่า 2 ปี จากนี้สภาเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินทุนรวมกันประมาณ 2,000 ล้านปอนด์ หรือ 9 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริการสาธารณะดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

 

มีเมืองไหนในโลกอีกบ้างที่ประกาศล้มละลาย

 

ข่าวการล้มละลายของเมืองเบอร์มิงแฮมทำให้ทั่วโลกตั้งคำถามเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินของเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วโลก ว่ามีประเทศใดอีกไหมที่ปัญหาอย่างที่เบอร์มิงแฮมกำลังเผชิญ และมีความเสี่ยงในการประกาศล้มละลาย แต่ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา เมืองสำคัญๆ ในสหรัฐหลายเมืองก็ได้ผ่านกระบวนการการล้มละลายมาแล้ว โดย ‘ดีทรอยต์’ และ ‘มิชิแกน’ เป็นตัวอย่างสองเมืองใหญ่ที่เคยประกาศล้มละลาย หลังเผชิญความท้าทายทางการเงินมาก่อน ซึ่งสหรัฐได้อนุมัติให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประกาศล้มละลายได้ในปี 1930

 

ล้มละลาย เมือง



นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเมือง อาทิ เมืองสต็อกตันในแคลิฟอร์เนีย, เมืองวัลเลโฮในแคลิฟอร์เนีย, หรือเมืองบริดจ์พอร์ต ในคอนเนทิคัต ซึ่งเป็นเมืองแรกในประศาสตร์สหรัฐที่ประกาศล้มละลาย ล้วนเคยฟันฝ่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย และผ่านกระบวนการการล้มละลายมาแล้ว ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนตอกย้ำถึงความสำคัญของจัดการภาระต่องบประมาณ (Fiscal Responsibility) และการบริหารจัดการงบประมาณของส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ

ด้านเมืองสำคัญอื่นๆ ในโลก แม้จะไม่ได้มีการประกาศล้มละลาย แต่ก็เคยเผชิญกับวิกฤตการเงินจากปัญหารายจ่ายทะลุรายได้ และประสบปัญหาภาระหนี้ อาทิ กรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา, กรุงเอเธนส์ของกรีซ, เมืองเรคยาวิก ของไอซ์แลนด์ หรือแม้แต่เมืองเกียวโตของญี่ปุ่น

 

เมืองล้มละลาย

 

ทำไมเมืองถึงประกาศล้มละลาย?

 

การประกาศล้มละลายของเมืองใหญ่เปิดทางให้รัฐใช้กฎหมายในการมาช่วยแก้ไขปัฐหาทางการเงินที่หน่วยงานท้องถิ่นนั้นๆ กำลังเผชิญอยู่ แต่แม้ในหน้าสื่อหลายที่ จะใช้คำว่า ‘ประกาศล้มละลาย’ แต่กฎหมายที่จะมาช่วยดูแลหน่วยงานท้องถิ่นของอังกฤษและสหรัฐนั้น มีจุดประสงค์ และกลไกการทำงานที่แตกต่างกัน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกาศล้มละลายของสหรัฐ คือ “มาตรา 9 ตามกฎหมายล้มละลายของรัฐบาลกลาง” (Chapter 9, Title 11, United States Code) จะเป็นกลไกที่ช่วยให้เมืองที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน สามารถปรับโครงสร้างหนี้ และเจรจาภาระผูกพันตามสัญญา (Contractual Obligation) ใหม่อีกครั้ง อันรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (Collective Bargaining Agreement) เป็นสิ่งสำคัญในยามที่เศรษฐกิจไม่ปกติ โดยกฎหมายนี้จะมีกระบวนการการจัดการหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้อย่างเป็นระบบภายใต้การดูแลของศาลล้มละลายสหรัฐ และอาจปูทางสำหรับการฟื้นฟูปัญหาทางการเงินในระยะยาว โดยที่ยังสามารถเดินหน้าให้บริการภาครัฐที่สำคัญ แก่ประชาชนได้อยู่

 

ศาลล้มละลาย

 

ขณะที่ของอังกฤษจะเป็น “มาตรา 114 ในพระราชบัญญัติการเงินท้องถิ่นค.ศ. 1988” (Section 114, the Local Government Finance Act 1988) ไม่เชิงว่า เป็นการประกาศล้มละลาย เพราะหน่วยงานท้องถิ่นของสหราชอาณาจักรไม่สามารถล้มละลายได้ แต่จะเป็นกลไกลการควบคุมการเงิน ที่ให้อำนาจผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของสภาของเมืองจำกัดรายจ่ายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นยกเว้นบริการจากภาครัฐที่สำคัญๆ ตามกฎหมาย ในกรณีที่รัฐเผชิญปัญหาด้านการเงินขั้นร้ายแรง ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้ จะไม่มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายแต่อย่างใด

 

ที่มา : BBC, WMTX law, The Guardian, The Baltimore Sun, Scope LA

 

advertisement

SPOTLIGHT