ธุรกิจการตลาด

'Alibaba' ปรับโครงสร้างใหญ่ เตรียมแยกเป็น 6 บริษัท พร้อม IPO

30 มี.ค. 66
'Alibaba' ปรับโครงสร้างใหญ่ เตรียมแยกเป็น 6 บริษัท พร้อม IPO

‘อาลีบาบา’ (Alibaba) บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของจีนกำลังจะมีการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการแตกธุรกิจออกเป็น 6 บริษัทย่อย เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน เตรียมกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหลังถูกนโยบายควบคุมสอดส่องธุรกิจเอกชนของรัฐบาลจีนทำธุรกิจซบเซาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในการปรับโครงสร้างครั้งแรกใน 24 ปีที่ตั้งบริษัทมานี้ Alibaba จะกลายสภาพเป็นบริษัทโฮลดิ้ง หรือบริษัทแม่ของอีก 6 บริษัทที่จะแยกไปมี CEO และทีมบริหารเป็นของตัวเอง รวมไปถึงมีแผนที่จะนำหุ้นเข้า IPO เพื่อระดมทุนเป็นของตัวเองต่อไปในอนาคต ยกเว้น Taobao Tmall Commerce Group ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศที่ Alibaba จะยังเป็นเจ้าของ 100%

Daniel Zhang ซีอีโอของ Alibaba กล่าวว่า การปรับโครงสรา้งครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับบริษัท และทำให้การติดต่อสื่อสารและตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นไปเพื่อนเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้น และเพิ่มขีดการแข่งขันของบริษัทในตลาด โดยเขาจะยังคงทำหน้าที่เป็นประธานและซีอีโอของ Alibaba Group ต่อไปหลังปรับโครงสร้างแล้ว

การปรับโครงสร้างในครั้งนี้เกิดขึ้นหลัง Alibaba บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ในจีนถูกรัฐบาลจีนออกกฎควบคุมและจับตามองอย่างหนัก จนทำให้ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัทอย่าง แจ็ค หม่า (Jack Ma) ต้องหนีออกไปอยู่นอกประเทศ และเพิ่มกลับเข้าจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ Alibaba จะออกมาประกาศปรับโครงสร้างนี้ 1 วัน

จากแถลงการณ์ของ Alibaba ทั้ง 6 บริษัทจะดำเนินธุรกิจหลักในกลุ่มต่างๆ 6 กลุ่มของ Alibaba ดังนี้

  1. Cloud Intelligence Group กลุ่มธุรกิจคลาวด์ และปัญญษประดิษฐ์ ที่จะมี Daniel Zhang ซีอีโอของ Alibaba เป็นซีอีโอ
  2. Taobao Tmall Commerce Group กลุ่มธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศ อย่างเว็บไซต์เถาเป่า (Taibao) และ Tmall ซึ่งจะมี Trudy Dai ผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba Group เป็นซีอีโอ
  3. Local Services Group กลุ่มธุรกิจการเดินทาง และการส่งอาหาร ที่จะมี Yu Yongfu อดีตซีอีโอของธุรกิจ Local Life ของ Alibaba เป็นซีอีโอ
  4. Cainiao Smart Logistics กลุ่มธุรกิจลอจิสติกส์ ที่มี Wan Lin เป็นซีอีโอ
  5. Global Digital Commerce Group กลุ่มธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ในต่างประเทศอย่าง Lazada และ AliExpress ซึ่งจะมี Jiang Fan เป็นซีอีโอ
  6. Digital Media and Entertainment Group กลุ่มธุรกิจด้านความบันเทิง เช่น แพลตฟอร์มวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของจีนอย่าง Youku และ Alibaba Pictures ซึ่งจะมี Fan Luyuan เป็นซีอีโอ

โดยจากรายงานผลประกอบการของ Alibaba ใน 9 เดือนหรือ 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2022 (1 เม.ย. 2022 - 31 ธ.ค. 2022  ธุรกิจที่ทำรายได้ให้ Alibaba มากที่สุดก็คือ 

  1. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีน ทำรายได้ 446,658 ล้านหยวน คิดเป็น 67.5% ของรายได้ทั้งหมด (-1% จากปีก่อนหน้า)
  2. ธุรกิจคลาวด์ ทำรายได้ 58,621 ล้านหยวน คิดเป็น 8.9% ของรายได้ทั้งหมด (+5% จากปีก่อนหน้า)
  3. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศ ทำรายได้ 50,663 ล้านหยวน คิดเป็น 7.7% ของรายได้ทั้งหมด (+8% จากปีก่อนหน้า)
  4. ธุรกิจลอจิสติกส์ ทำรายได้ 42,062 ล้านหยวน คิดเป็น 6.4% ของรายได้ทั้งหมด (+22% จากปีก่อนหน้า)
  5. ธุรกิจการเดินทางและส่งอาหาร ทำรายได้ 37,563 ล้านหยวน คิดเป็น 5.7% ของรายได้ทั้งหมด  (+11% จากปีก่อนหน้า)
  6. ธุรกิจด้านความบันเทิง ทำรายได้ 23,209 ล้านหยวน คิดเป็น 3.5% ของรายได้ทั้งหมด (-4% จากปีก่อนหน้า)

มูลค่าบริษัทของ Alibaba หายไปมากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากช่วงพีคในเดือนตุลาคมปี 2020 หลังจากรัฐบาลจีนเข้ามาสอดส่องการทำงานของ Alibaba จนแผน IPO ของ Ant Group ที่ดูแลธุรกิจเทคโนโลยีการเงินของ Alibaba ต้องล้มเลิกไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 นอกจากนี้ในปี 2021 Alibaba ยังถูกปรับในข้อหาทำธุรกิจกินรวบตลาดเป็นมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์มองว่า การแตกบริษัทออกเป็น 6 บริษัทเล็กในครั้งนี้จะช่วยลบภาพลักษณ์ธุรกิจใหญ่กินรวบที่เป็นที่จับตามองของรัฐบาลจีน และช่วยทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นในช่วงที่รัฐบาลจีนเริ่มคลายการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19



ที่มา: Alibaba, Reuters, CNBC

advertisement

SPOTLIGHT