ทีมดำน้ำช่วยหมูป่ายัน ซีลคุ้ม 13 ชีวิตปลอดภัย เผยนาทีเศร้า "จ่าแซม" โบกมือลา (คลิป)

9 ก.ค. 61
วันที่ 8 ก.ค. 61 หลังจากนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ศอร.) แถลงข่าวการทยอยนำทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 คน ออกจากถ้ำหลวง โดยส่งผู้เชี่ยวชาญดำน้ำในถ้ำจากต่างประเทศ และหน่วยซีลเข้าไปสนับสนุน
นายโทนทอง สุขแก่น หัวหน้าศูนย์อำนวยการ อาสาสมัครทีมกู้ภัย อาสาพาน้องกลับบ้าน
นายโทนทอง สุขแก่น หัวหน้าศูนย์อำนวยการ อาสาสมัครทีมกู้ภัย อาสาพาน้องกลับบ้าน เปิดเผยในรายการเกาะติดภารกิจนำ "ทีมหมูป่า" กลับบ้าน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี ว่า ตอนนี้ไม่เป็นกังวล เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมงานเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการช่วยเหลือ โดยต้องปล่อยเจ้าหน้าทำงานให้เต็มที่ ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องควรถอยออกมา เพราะอุปสรรคเพียงนิดเดียวก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งการดำน้ำออกจากถ้ำเป็นทางเลือกที่เร็วที่สุด แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ อาการตกใจกะทันหันหรือกลัวสุดขีดของน้อง ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ แต่เด็ก ๆ เคยเข้าถ้ำนี้เป็นประจำ เชื่อว่าอาจจะคุ้นเคยและรู้จักพื้นที่ต่าง ๆ ของถ้ำอยู่บ้าง ไม่ถึงขั้นตื่นตระหนก สำหรับการกันพื้นที่สำหรับสื่อมวลชน และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องนั้น นายโทนทอง ระบุว่า เป็นขอบเขตการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยการนำเด็กออกมา 2 คนก่อนนั้น ตนค่อนข้างมั่นใจว่า โค้ชและเด็ก ๆ ที่เหลือ จะมีความมั่นใจขึ้น อีกทั้งตนเชื่อว่า โค้ชเอกจะออกมาจากถ้ำเป็นคนสุดท้าย เพราะเป็นการสร้างกำลังใจให้เด็ก ๆ ทุกคนในทีมหมูป่า ทั้งนี้ สำหรับภารกิจการสำรวจปล่องบนภูเขาก็ยังต้องมีการสำรวจต่อไป เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสที่จะนำเด็กออกมาได้โดยเร็วที่สุด นายโทนทอง ยังเผยถึงความรู้สึกหลังในวันที่เจอเด็กทั้ง 13 คน ว่าตนเองน้ำตาไหล เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งที่ทำไปไม่ได้เสียเปล่าและเชื่อว่าในวันนี้ที่เด็กๆถึงมือหมอนั้นจะต้องปลอดภัย เพราะที่ผ่านมานั้นทุกคนทำงานแข่งกับเวลาอยู่แล้ว ในช่วงที่เด็กๆหายไป 4 วันแรกนั้นตนเองทำงานวันละ 22 ชั่วโมง ยอมรับว่าแม้มันจะมีความหวังน้อยแต่เราก็ทำมันด้วยความหวัง
นายเฉลิมพนธ์ หงษ์ยนต์ ประธานชมรมกู้ภัยทางน้ำ ภาค 7
ด้านนายเฉลิมพนธ์ หงษ์ยนต์ ประธานชมรมกู้ภัยทางน้ำ ภาค 7 กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเด็กจะต้องสวมหน้ากากแบบเต็มใบ เชื่อมต่อกับถังอากาศ ซึ่งหน้ากากมีความแข็งแรง และหลุดยาก โดยเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนย้าย จะต้องประเมินความพร้อมร่างกายเด็กก่อน โดยจะนำเด็กออกมาทีละชุด เนื่องจากต้องประเมินอีกครั้งว่า การช่วยเหลือในชุดแรกนั้นมีปัญหาหรือไม่ โดยการพาเด็กดำน้ำออกมานั้น จะมีหน่วยซีลนำหน้า 1 คน และให้เด็กเกาะตัวไว้ และหน่วยซีลอีก 1 คนที่อยู่ด้านหลัง ช่วยผลักดันตัวเด็กไปทางด้านหน้า อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์แล้ว ตนคิดว่าเจ้าหน้าที่ค่อนข้างทำงานได้รวดเร็ว เพราะปกติหน่วยซีลดำน้ำเข้าไป จากโถง 3 ถึงเนินนมสาว ต้องใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง แต่การน้ำเด็กออกมาครั้งนี้ ถือว่ายากกว่าปกติ แต่สามารถออกได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือทั้ง 13 คน ออกมาได้อย่างปลอดภัยทั้งหมด จึงจะถือว่าภารกิจครั้งนี้สำเร็จ
แบบจำลองการดำน้ำพาเด็กออกจากถ้ำ
นายเฉลิมพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสภาพน้ำที่เย็นนั้น ตนแนะนำหน่วยซีลไปแล้วว่าจำเป็นต้องสวมชุดดำน้ำ เพราะชุดจะช่วยกักเก็บความร้อนจากร่างกายได้ดี และถ้าออกมาได้เร็วก็จะทำให้เด็กปลอดภัยมากขึ้น ส่วนตนรู้สึกดีใจมากที่เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือเด็กส่วนหนึ่งออกมาได้แล้ว
อาสาสมัครทีมกู้ภัย อาสาพาน้องกลับบ้าน
นอกจากนี้ หนึ่งในทีมกู้ภัย กล่าวถึง จ.อ.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตหน่วยซีลที่เสียชีวิตระหว่างทำภารกิจในถ้ำหลวงว่า ก่อนหน้านั้น ตนเคยเจอจ่าแซม และเคยพาไปส่งที่ถ้ำหลวง ระหว่างทางเคยพูดคุยเล่นกันกับจ่าแซม เมื่อทราบข่าวว่าจ่าแซมเสียชีวิต ตนก็รู้สึกตกใจมาก เพราะเพิ่งคุยเล่นกันบนท้ายรถ ซึ่ง นายเฉลิมพนธ์ ก็พูดถึงหน่วยซีลหลังจากจ่าแซมเสียชีวิตว่า ทหารทุกคนอาจจะแค่เสียใจแต่ทุกคนก็สู้ต่อไปเพื่อจะเอาน้องออกมาให้ได้

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ