พระตอกเส้นเปิดใจนั่งฌานเจอวิชาลี้ลับ คนแห่รักษาตายแค่ 2-กรมแพทย์ฯยันไม่รับรอง (คลิป)

21 พ.ย. 60
จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก "FuckGhost ฟักโกสต์ : สมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย" ได้แชร์คลิปวิดีโอพระรูปหนึ่งกำลังตอกคลายเส้นให้กับหญิงสาว ซึ่งป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมา 7 ปี ซึ่งเมื่อรักษาด้วยการนวดตอกเส้น อาการกลับดีขึ้นทันตาเห็น พร้อมข้อความ ระบุ "มีใบประกอบโรคทางศิลป์ไหม เพราะถ้าหากรักษาไม่ถูกวิธีอันตรายนะ  ส่วนพระเองไปทำแบบนั้นเหมาะสมไหม ?" ล่าสุด วันนี้(20 พ.ย.60) ทีมข่าวจึงได้เดินทางไปยัง มูลนิธิโพธิรังสีตอกเส้น 2,600 ปี ที่เปิดเป็นคลินิกภายในอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้น บนถนนสุขาประชาสรรค์ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด นนทบุรี พบว่า บริเวณชั้น 2 เป็นห้องสำหรับการนวดตอกเส้น มีผู้ที่กำลังนอนให้เจ้าหน้าที่ทำการนวดตอกเส้นกว่า 10 คน รวมถึงบริเวณด้านนอก มีประชาชนมานั่งรอรับการรักษากว่า 10 คน
พระมหาสีไพร อาภาธโร ประธานมูลนิธิโพธิรังสี
พระมหาสีไพร อาภาธโร ประธานมูลนิธิโพธิรังสี เปิดเผยว่า ได้คิดค้นวิธีการนวดตอกเส้นขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับภาวะการไหลเวียนของโลหิต ครอบคลุมเกือบทุกโรค เพราะการตอกเส้น เป็นการคลายกล้ามเนื้อ ที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี หลังจากนั้น ระบบร่างกายจะรักษาตัวเอง ซึ่งไม่ขอพูดว่าวิธีการที่ทำถูกต้องหรือไม่ เพราะเป็นวิธีที่คิดค้นขึ้นเอง แต่อยากให้คิดถึงประโยชน์ของผู้ที่เข้ามารับบริการ ส่วนใหญ่อาการจากโรคต่างๆ ดีขึ้น ภายหลังทำการตอกเส้น ส่วนคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ออกไป ทำให้หลายคนมองว่า เป็นวิธีการรักษาที่รุนแรง แท้จริงแล้วเทคนิคในการตอก เพียงใช้แรงสะท้อนจากค้อนยาง ที่ตีลงไปกระทบกับไม้ตอก ตอกลงไปในมัดกล้ามเนื้อที่ติดกันให้คลายออก ซึ่งไม่ได้รุนแรงตามที่หลายคนเข้าใจ โดยเก็บค่ารักษา 300 บาทต่อคน เพื่อนำเงินดังกล่าวมาหมุนเวียนในมูลนิธิฯ เพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ และสิ่งที่ทำนั้นเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ได้หวังกำไรเกินควรแต่อย่างใด พระมหาสีไพร เผยว่า ตนเป็นพระสงฆ์ สังคมส่วนใหญ่สอบถามถึงความเหมาะสมในการเปิดศูนย์ตอกเส้น ตนขอไม่พูดถึงส่วนนั้น แต่ยืนยันว่าตนเองทำงานเพื่อสังคม เหมือน "ตูน บอดี้สแลม" เพราะเห็นประชาชนทุกข์ยาก ถือเป็นการสนองงานของพระพุทธศาสนา ตอนแรกต้องลงมือทำด้วยตัวเอง และถ่ายทอดวิชาให้ลูกศิษย์ ต่อไปก็อาจจะปล่อยมือ เพื่อรอภาครัฐมารับรองให้การรักษาดังกล่าวถูกต้อง
พระวรพันธ์ สายโย พระวัดท้ายย่าน กำลังเข้ารับการตอกเส้น
ด้าน พระวรพันธ์ สายโย พระวัดท้ายย่าน จ.อ่างทอง ระบุว่า เคยหกล้มจนหมอนรองกระดูกทับเส้น ไม่สามารถเดินได้ ไปหาหมอแผนปัจจุบันแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จึงตัดสินใจมานวดตอกเส้นที่มูลนิธิฯ ดังกล่าว พบว่าอาการดีขึ้น วันนี้มาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากตอกเส้น สามารถเดินได้จนเกือบเป็นปกติ
นางวาสนา อยู่อยู่  อายุ 56 ปี
ด้าน นางวาสนา อยู่อยู่  อายุ 56 ปี ได้บอกว่า ตนมานวดตอกเส้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากตนเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เคยรักษาหลายที่แต่ไม่หาย ปกติจะปวดหลังต้องนอนตลอด มาวันนี้อาการดีขึ้นทันตาเห็น ขณะที่ตอกยอมรับว่าเจ็บแต่เจ็บแค่ครู่เดียวเท่านั้น หลังจากนั้นอาการก็จะดีขึ้น
นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ขณะที่ นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า การนวดตอกเส้น เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ทำโดยหมอพื้นบ้าน ถือเป็นองค์ความรู้ ที่ต้องได้รับการสืบทอดเรียนรู้ต่อกันมาการรักษาดังกล่าวไม่ได้อยู่ในมาตรฐานการรักษาของแพทย์แผนไทย แต่ทางกรมฯ ได้ออกใบรับรองสถานภาพให้กับหมอพื้นบ้าน ขณะนี้ทั่วประเทศมีอยู่จำนวน 1,400 คน โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น มีการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ใช้รักษาโดยไม่ได้แสวงหาผลกำไร และการตอกเส้นก็ไม่ได้รักษาได้ทุกโรค หลักๆ คือการคลายเส้น รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การตอกเส้นต้องทำให้ถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตราย ส่วนมูลนิธิโพธิรังสี ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ เคยเข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่าผู้รักษายังไม่เข้าเกณฑ์ของหมอพื้นบ้าน เนื่องจากวิธีการรักษาไม่ใช่ภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดมา โดยทางจังหวัดต้องเข้าไปตรวจสอบว่าวิธีการรักษาเป็นอันตรายกับประชาชนหรือไม่ นอกจากนี้ พระมหาสีไพร ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ตนเป็นผู้คิดค้นศาสตร์ดังกล่าวขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ.2556 เห็นวิธีรักษาจากการนั่งสมาธิ มีความรู้สึกว่า ถ้าใช้วิธีตอกเส้นจะสามารถรักษาอาการดังกล่าวได้ พระมหาสีไพร ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีคนตาย 2 คน คนแรกป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง มารอการรักษาตอกเส้น ระหว่างรอได้เสียชีวิตที่มูลนิธิฯ แต่ยังไม่ได้รับการตอกเส้น ส่วนรายที่ 2 มาตอกเส้นที่มูลนิธิฯ ผ่านไป 2 สัปดาห์ แล้วเสียชีวิต ซึ่งตนเองไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับการตอกเส้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีบ้างคนที่มารักษาเกิดอาการฟกช้ำ จากการตอกเส้น แต่ส่วนใหญ่มารักษาแล้วจะหาย แต่มีผู้ที่เข้ามารับการรักษาแล้วไม่หาย คิดเป็นส่วนน้อย เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยอาการหนัก เกินเยียวยาตั้งแต่แรก

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ