อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะ อย่าชม อย่าแชร์ ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย หวั่นเสี่ยงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

26 เม.ย. 60

จากรณีที่มีข่าวว่าคุณพ่อวัย 21 ปี ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ฆ่าลูกสาววัย 11 เดือน โดยการแขวนคอ แล้วตนเองจึงผูกคอฆ่าตัวตายตาม เพื่อประชดภรรยา

วันนี้ (26 เม.ย.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต โพสต์บทความผ่านทางบล็อก mindstationblog เกี่ยวกับการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายผ่านสังคมออนไลน์ว่า ทุกวันนี้เห็นได้ว่าการ live สดการฆ่าตัวตายผ่านสังคมออนไลน์ เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น จากการปรากฏเป็นข่าวหรือกล่าวถึงในโลกสังคมออนไลน์ เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ราย ซึ่งการถ่ายทอดสดลักษณะนี้ ไม่สามารถที่จะตัดต่อได้ หรือเซ็นเซอร์ได้ในขณะออกอากาศ

หากมีผู้ติดตามจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบ หรือชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ตามด้วยความเข้าใจผิดว่า เป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว หรืออาจเคยมีความคิดอยากตาย หรือมีปัญหาทุกข์ใจคล้ายๆ กันได้ และยิ่งหากผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่า การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย หากได้รับการตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อพบเห็นภาพเหล่านี้ ต้องรีบยับยั้ง อย่าแชร์ หรือบอกต่อ และไม่ติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต

สำหรับการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ในลักษณะหุนหันพลันแล่นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการฆ่าตัวตายอยู่แล้ว และผู้ที่ฆ่าตัวตายมักจะส่งสัญญาณเตือนมาก่อน ทั้งจากคำพูด การเขียนจดหมาย การส่งข้อความสั้น (SMS) การไลน์ หรือการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เป็นต้น ซึ่งคนที่อยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองมักจะมีความลังเล พะวักพะวง การช่วยเหลือในระยะนี้จึงมีความสำคัญและเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุดจากคนใกล้ชิด ตามหลัก 3ส. ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อให้บุคคลากรด้านสุขภาพจิตช่วยดูแลต่อ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลจิตเวชก็ตาม

การปรากฏตัวในโลกโซเชียล จึงเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่า เขาอาจยังมีความลังเลอยู่ เขากำลังร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในจังหวะนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตนี้ได้ ด้วยการประวิงเวลา ให้กำลังใจ ให้ข้อคิด สนทนาเรียกสติ ยับยั้งความคิด ให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น ให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงไปให้ได้ อย่านิ่งเฉย ท้าทาย เยาะเย้ย ด่าว่า หรือตำหนิ ตลอดจน โทร. 191 และเชื่อมประสานคนที่เขารัก ไว้ใจ หรือใกล้ชิดที่สุด เพื่อช่วยดึงสติเขากลับมา หรือขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว

ทั้งนี้สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย จากฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายของคนไทย โดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พบว่า มีแนวโน้มค่อยๆ สูงขึ้น ล่าสุด ปี 2558 คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า

ปัจจัยและสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย พบว่า เกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะปัญหาความรักความหึงหวง ที่ทำให้เกิดการทำร้ายตนเองมากที่สุด ถึงร้อยละ 20 รองลงมา คือ โรคซึมเศร้า และน้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า ผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักจะมีการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย ตลอดจนพบว่าการดื่มสุราเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการทำร้ายตนเอง

ส่วนแนวทางป้องกันในระดับบุคคลนั้น โดยหลักพื้นฐานแล้ว คือ การมีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยึดหลักศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อทำให้จิตใจสงบมากขึ้น รวมทั้ง การฝึกสติ ฝึกสมาธิ หาเพื่อนปรึกษา พูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว ตลอดจนขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ในขณะที่ครอบครัว ชุมชน และสังคม ก็ต้องสื่อสารดีต่อกัน ตลอดจนเอาใจใส่กันและกัน ปัญหาการฆ่าตัวตายป้องกันได้ ทุกคนช่วยได้

  ข้อมูลจาก http://www.mindstationblog.com/blog.php?i=1679091c5a880faf6fb5e6087eb1b2dc&b=ea5d2f1c4608232e07d3aa3d998e5135&choose=b5dc4e5d9b495d0196f61d45b26ef33e&utm_campaign=shareaholic&utm_medium=facebook&utm_source=socialnetwork ภาพจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ