เช็กสิทธิ์เบื้องต้น เงินดิจิทัลใครได้ -ไม่ได้บ้าง

10 เม.ย. 67

เช็กสิทธิ์เบื้องต้น เงินดิจิทัลใครได้ –ไม่ได้บ้าง เข้ากระเป๋าประชาชนเมื่อไหร่ เงื่อนไขเป็นอย่างไร นายกฯตอบชัดเจนแล้ว

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 เม.ย. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการแถลงข่าว ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ต ครั้งที่ 3/2567 ว่า 

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า วันนี้รัฐบาลมีความยินดีที่จะประกาศให้ประชาชนทราบว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เป็นนโยบายที่จะยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศ และระดับประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว 

รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลายจนมาถึงวันนี้ที่รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส3 และเงินจะส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนในไตรมาส4ปีนี้ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ใหมหุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขายการลงทุนและกิจการผลิต ซึ่งรัฐบาลจะได้กลับมาในรูปแบบของภาษี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น 

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับแหล่งเงินจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ 

เช่น มาตรา 6 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดว่ารัฐต้องดำเนินนโยบายการคลังตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด มาตรา 7 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย 

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้กำหนด กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท 

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่ายนั้นได้แก่ 1.ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น  2.ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า 

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม ส่วนคุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป 

การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนการป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  

สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ การให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2 - 1.8 จากกรณีฐาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ ในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือน เม.ย.2567

เมื่อถามว่า 7-11 และแมคโคร ถือเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าเงื่อนไขหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นร้านสะดวกซื้อลงมาถือว่าเป็นร้านขนาดเล็ก เพราะต้องการให้เงินกระจายอยู่ในชุมชน ส่วนแมคโคร ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ซุปเปอร์มาเก็ต และห้างสรรพสินค้าไม่รวม ไม่นับ เหตุผลที่มีการระบุร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากต้องการกระจายเงินให้ชุมชนมากที่สุด โดยร้านค้าจะไม่รวมห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก และค้าส่งขนาดใหญ่ แต่รวมร้านประเภทร้านสะดวกซื้อ ทั้งแบบการสแตนอโลน และตั้งอยู่ในสถานบริการน้ำมัน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม